วันจักรี 6 เมษายน
วันจักรี เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี
วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีสืบทอดต่อจาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ (ร.1-4) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาทเป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 4 (ร.1-4) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ
จนกระทั่ง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล จึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมา โปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า “วันจักรี”
ราชวงศ์จักรี
ชื่อของราชวงศ์จักรีมีที่มาจากบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยกรุง ธนบุรี คำว่า “จักรี” นี้พ้องเสียงกับคำว่า “จักร” และ “ตรี” ซึ่งเป็นเทพอาวุธของพระนารายณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีไว้ 1 สำรับ และกำหนดให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีสืบมาจนถึงปัจจุบัน
รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
(ขึ้นครองราชย์ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 สิ้นสุดการครองราชย์ 7 กันยายน พ.ศ. 2352)
รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
(ขึ้นครองราชย์ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 สิ้นสุดการครองราชย์ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367)
รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิ้นสุดการครองราชย์ 2 เมษายน พ.ศ. 2394)
รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 6 เมษายน พ.ศ. 2394 สิ้นสุดการครองราชย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411)
รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 สิ้นสุดการครองราชย์ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิ้นสุดการครองราชย์ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468)
รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สิ้นสุดการครองราชย์ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (2478) (สละราชสมบัติ)
รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
(ขึ้นครองราชย์ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (2478) สิ้นสุดการครองราชย์ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489)
รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
(ขึ้นครองราชย์ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ปัจจุบันยังอยู่ในราชสมบัติ)
ตราสัญลักษณ์ ราชวงศ์จักรี
รัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์
6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือฝั่งธนบุรีมาที่ฝั่งตะวันออก โดยทรงทำพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายนปีเดียวกัน และทรงพระราชทานนามพระนครแห่งนี้ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ซึ่งเป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้จัดให้มีพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ทั้ง 5 รัชกาล และทรงประกาศให้เป็น “วันจักรี” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
กิจกรรมหลักๆในวันจักรี
ในอดีต หากเป็นวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี เนื่องในวันจักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ไปเป็นประธานในพิธีทางศาสนา เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับทรงสักการะพระบรมรูปของทั้ง 8 รัชกาล ซึ่งเป็นสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งกิจกรรมหลักๆ ในวันจักรี ที่มีทั้งพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ และ ประชาชนทั่วไป
เสด็จวางพวงมาลา
วันที่ 6 เมษายน ของทุกปีในวันจักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ไปเป็นประธานในพิธีทางศาสนา เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว ต่อจากนั้นก็ทรงเสด็จไปวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งยังมีเหล่าพสกนิกรอย่าง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หน่วยงานของรัฐบาล และเอกชน นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ต่างพร้อมใจกัน เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลให้กับพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงอุทิศพระองค์ เพื่อความสงบสุขของ ประชาชนของพระองค์อย่างแท้จริง
จัดพิธีถวายบังคมพระรูป
วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี จะมีการจัดงานและมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ณ บริเวณลานด้านพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ เชิงสะพานพระพุทธยอด ฟ้า จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบัน แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จะไม่ได้เสด็จมาเอง แต่ก็ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ พระบรมวงศ์ศานุวงศ์ เป็นตัวแทนส่วนพระองค์ ประกอบพิธีถวายบังคมและวางพวงมาลา เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรีวงศ์
จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ
ปัจจุบัน ทั้งมูลนิธิ หรือส่วนราชการต่าง และภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดงานสัปดาห์เฉลิมพระเกียรติ วันจักรี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระองค์ที่มีต่อประชาชนชาวไทย มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรตินี้ จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ และเพื่อช่วยเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติได้เป็นอย่างดี
นอกจากพิธีวางพวงมาลา บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แล้วยังมีการทำบุญตักบาตร ตอนเช้า ตามความเชื่อของชาวพุทธ เพื่ออุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นั่นเอง
แนวทางการส่งเสริมวันจักรี
การทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางและการส่งเสริม กิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อให้ประชาชนได้น้อมรำลึกถึงคุณงามความดีที่พระองค์เคยโปรดเกล้า ฯ สร้างผลงานต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแล้วแต่ เป็นประโยชน์ต่อประชาขนชาวไทยเป็นอย่างมาก เพื่อให้ ประชาชนชาวไทย รัก เคารพ รำลึกถึงและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ตลอดจนชั่วลูกชั่วหลานต่อไป ทำให้ต้องหาแนวทางการส่งเสริมต่างๆ เพื่อรักษาและธำรงไว้
การจัดนิทรรศการวันจักรีตามหน่วยงานต่างๆ
ถือเป็นการส่งเสริมแนวทางกิจกรรมที่จะสานต่อให้ชาวไทยรุ่นต่อๆ ไปได้ทราบถึง คุณงามความดีที่พระองค์เคยโปรดเกล้า ฯ สร้างผลงานต่างๆ ที่ผ่านมา ในด้านต่างๆ ซึ่งการจัดนิทรรศการตามสถานที่ราชการ อย่างโรงเรียนหรือ หน่วยงานต่างๆ ถึง ความหมาย ประวัติ และความเป็นมา พระราชกรณียกิจต่างๆ รวมถึง สิ่งที่พระองค์ได้ทำเพื่อบ้านเมืองและประชาชนของพระองค์ ซึ่งจะทำให้เยาวชน และประชาชนทั่วไป มีการปลูกฝังจิตสำนึก และระลึกถึงความดีงามที่พระองค์เคยสร้างไว้
ร่วมพิธีวางพวงมาลา
เพื่อไม่ให้พิธีการของวันจักรี ค่อยๆเลือนหายไป การเข้าร่วมงาน วางพวงมาลา บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ บริเวณเชิงสะพานพุทธ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่หลายคนอาจจะอยากมีส่วนร่วม เพื่อรักษาธรรมเนียมนี้ไว้ เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ที่ได้เข้าร่วมพิธีสำคัญเช่นนี้
ติดตามข่าวสารหรือดูถ่ายทอดกิจกรรมต่างๆของวันจักรี
นอกจากข่าวในพระราชสำนักเนื่องในวันจักรี ที่มีพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศ์ศานุวงศ์เสด็จวางพานพุ่มสักการะ รัชกาลที่ 1 แล้ว การติดตามข่าวสารหรือข้อมูลต่างๆ ตามสื่อโซเชียล สื่อ โทรทัศน์ วิทยุ รายการพิเศษต่างๆที่จัดขึ้นในวันนี้ ซึ่งทำให้เรามองเห็นพระปรีชาชาญและ พระราชกรณียกิจที่เต็มไปด้วยความยากลำบากของแต่ละพระองค์ ก็จะทำซึ่งจากการติดตาม ก็จะทำให้เราทราบถึงความเคลื่อนไหว ได้เช่นกัน
ด้วยประชาทั้งหลายนั้น ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่เป็นพระคุณอย่างยิ่งต่อแผ่นดินไทย วันจักรีถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญมาก การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของวันสำคัญเช่นนี้ จึงถือเป็นการส่งเสริมให้ชาวไทยได้รักษาสิ่งดีๆ ไว้ให้กับลูกหลานได้เรียนรู้ถึงสิ่งดีๆ ต่อไป
ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
วันจักรี น.วันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาพระบรมราชวงศ์จักรี ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน.
วันจักรี
วันจักรี หมายถึง วันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ปฐมบรมราชวงศ์จักรี เสด็จกรีฑาทัพถึงพระมหานครทรงรับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศ
วันจักรีตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีสืบทอดต่อจาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย
คำอ่านวัน – จัก – กรี ชนิดของคำวันสำคัญของไทย