พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระพุทธเจ้าหลวง ทรงเป็นรัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบรมราชสมภพเมื่อ วันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เสวยราชสมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง (พ.ศ. 2411) รวมสิริดำรงราชสมบัติ 42 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) ด้วยโรคพระวักกะ รวมพระชนมพรรษา 58 พรรษา
พระองค์ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร ให้ร่มเย็นเป็นสุข ทรงโปรดการเสด็จประพาสต้น เพื่อให้ได้ทรงทราบถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร ทรงสนพระทัยในวิชาความรู้ และวิทยาการแขนงต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และนำมาใช้บริหารประเทศให้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว พระองค์จึงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยมหาราช และมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ (ต่อมาภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการเปลี่ยนแปลงพระนามเจ้านายฝ่ายในให้ถูกต้องชัดเจนตามโบราณราชประเพณีนิยมยุคถัดมาเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ได้รับพระราชทานนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร
พระองค์ทรงมีพระขนิษฐาและพระอนุชารวม 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2404 สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ได้รับการสถาปนาให้ขึ้นทรงกรมเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ [1] และเมื่อ พ.ศ. 2409 พระองค์ทรงผนวชตามราชประเพณี ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังจากการทรงผนวช พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อปี พ.ศ. 2410 โดยทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า [2]
วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ภายหลังทรงเสด็จออกทอดพระเนตรสุริยุปราคา โดยก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตนั้น ได้มีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า “พระราชดำริทรงเห็นว่า เจ้านายซึ่งจะสืบพระราชวงศ์ต่อไปภายหน้า พระเจ้าน้องยาเธอก็ได้ พระเจ้าลูกยาเธอก็ได้ พระเจ้าหลานเธอก็ได้ ให้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ปรึกษากันจงพร้อมสุดแล้วแต่จะเห็นดีพร้อมกันเถิด ท่านผู้ใดมีปรีชาควรจะรักษาแผ่นดินได้ก็ให้เลือกดูตามสมควร” ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเสด็จสวรคต จึงได้มีการประชุมปรึกษาเรื่องการถวายสิริราชสมบัติแด่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ซึ่งในที่ประชุมนั้นประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ได้เสนอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุมนั้นมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ ดังนั้น พระองค์จึงได้รับการทูลเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระราชบิดา [3] โดยในขณะนั้น ทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะทรงมีพระชนมพรรษครบ 20 พรรษา โดยทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฎว่า
” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษรัตนราชรวิวงศ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยวิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต มหันตวรฤทธิเดช สรรวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทร มหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตยรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว” [2]
เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา จึงทรงลาผนวชเป็นพระภิกษุ และได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฎว่า
” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษรัตนราช รวิวงศ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฏไพบูลย์ บุรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เวลา 2.45 นาฬิกา รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา
พระมเหสี พระราชินี เจ้าจอม พระราชโอรส และ พระราชธิดา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมเหสี และ เจ้าจอม รวมทั้งหมด 92 พระองค์ โดย 36 พระองค์มีพระราชโอรส-ธิดา อีก 56 พระองค์ไม่มี และพระองค์ทรงมีพระราชโอรส-ธิดา รวมทั้งสิ้น 77 พระองค์
พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
พระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 5 ได้แก่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีเลิกทาส การป้องกันการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และจักรวรรดิอังกฤษ ได้มีการประกาศออกมาให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ โดยบุคคลศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามสามารถปฏิบัติการในศาสนาได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ได้มีมีการนำระบบจากทางยุโรปมาใช้ในประเทศไทย ได้แก่ระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญบาท ใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัดและอำเภอ และได้มีการสร้างรถไฟ สายแรก คือ กรุงเทพฯ ถึง เมืองนครราชสีมา ลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ.109 ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2433 นอกจากนี้ได้มีงานพระราชนิพนธ์ ที่สำคัญ
การเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส
ครั้งที่ 1 เสียแคว้นเขมร (เขมรส่วนนอก) เนื้อที่ประมาณ 123,050 ตารางกิโลเมตร และเกาะอีก 6 เกาะ วันที่ 15 กรกฎาคม 2410
ครั้งที่ 2 เสียแคว้นสิบสองจุไท หัวพันห้าทั้งหก เมืองพวน แคว้นหลวงพระบาง แคว้นเวียงจันทน์ คำม่วน และแคว้นจำปาศักดิ์ฝั่งตะวันออก (หัวเมืองลาวทั้งหมด) โดยยึดเอาดินแดนสิบสองจุไทย และได้อ้างว่าดินแดนหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และนครจำปาศักดิ์ เคยเป็นประเทศราชของญวนและเขมรมาก่อน จึงบีบบังคับเอาดินแดนเพิ่มอีก เนื้อที่ประมาณ 321,000 ตารางกิโลเมตร วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2431 ฝรั่งเศสข่มเหงไทยอย่างรุนแรงโดยส่งเรือรบล่วงเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า ฝ่ายไทยยิงปืนไม่บรรจุกระสุน 3 นัดเพื่อเตือนให้ออกไป แต่ทางฝรั่งเศสกลับระดมยิงปืนใหญ่เข้ามาเป็นอันมาก เกิดการรบกันพักหนึ่ง ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสนำเรือรบมาทอดสมอ หน้าสถานทูตของตนในกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ (ทั้งนี้ประเทศอังกฤษ ได้ส่งเรือรบเข้ามาลอยลำอยู่ 2 ลำ ที่อ่าวไทยเช่นกัน แต่มิได้ช่วยปกป้องไทยแต่อย่างใด) ฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้ไทย 3 ข้อ ให้ตอบใน 48 ชั่วโมง เนื้อหา คือ ให้ไทยใช้ค่าเสียหายสามล้านแฟรงค์ โดยจ่ายเป็นเหรียญนกจากเงินถุงแดง พร้อมส่งเช็คให้สถานทูตฝรั่งเศสแถวบางรัก ให้ยกดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆ ในแม่น้ำด้วย ให้ถอนทัพไทยจากฝั่งแม่น้ำโขงออกให้หมดและไม่สร้างสถานที่สำหรับการทหาร ในระยะ 25 กิโลเมตร ทางฝ่ายไทยไม่ยอมรับในข้อ 2 ฝรั่งเศสจึงส่งกองทัพมาปิดอ่าวไทย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2436 และยึดเอาจังหวัดจันทบุรีกับจังหวัดตราดไว้ เพื่อบังคับให้ไทยทำตาม
ไทยเสียเนื้อที่ประมาณ 50,000 ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศส ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 และฝรั่งเศสได้ยึดเอาจันทบุรีกับตราด ไว้ต่ออีก นานถึง 11 ปี (พ.ศ. 2436- พ.ศ. 2447)
ปี พ.ศ. 2446 ไทยต้องทำสัญญายกดินแดนให้ฝรั่งเศสอีก คือ ยกจังหวัดตราดและเกาะใต้แหลมสิงห์ลงไป (มีเกาะช้างเป็นต้น) ไปถึง ประจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง) ดังนั้นฝรั่งเศสจึงถอนกำลังจากจันทบุรีไปตั้งที่ตราด ในปี พ.ศ. 2447
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 ไทยต้องยกดินแดนมณฑลบูรพา คือเขมรส่วนใน ได้แก่เสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศสอีก ฝรั่งเศสจึงคืนจังหวัดตราดให้ไทย รวมถึงเกาะทั้งหลายจนถึงเกาะกูด
รวมแล้วในคราวนี้ ไทยเสียเนื้อที่ประมาณ 66,555 ตารางกิโลเมตร
และไทยเสียดินแดนอีกครั้งทางด้านขวาของแม่น้ำโขง คืออาณาเขต ไซยะบูลี และ จำปาศักดิ์ตะวันตก ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450
การเสียดินแดนให้อังกฤษ
เสียดินแดน รัฐไทรบุรี รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู และรัฐปะลิส ให้อังกฤษ เมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2451 ( นับอย่างใหม่ พ.ศ. 2452) เพื่อขอกู้เงิน 4 ล้านปอนด์ทองคำอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี มีเวลาชำระหนี้ 40 ปี
พระราชปณิธาน
พระราชบิดาของฉัน ได้ทรงสละเวลาเป็นส่วนใหญ่ ในการศึกษาและคุ้มครองศาสนาของชาติ ส่วนฉันได้ขึ้นครองราชย์ในขณะอายุยังน้อย จึงไม่มีเวลาที่จะเป็นนักศึกษาอย่างพ่อ ฉันเองมีความสนใจในการศึกษาหนังสือหลักธรรมต่างๆ สนใจที่จะคุ้มครองศาสนาของเรา และต้องการให้มหาชนทั่วไปมีความเข้าใจถูกต้อง
ดูเหมือนว่า ถ้าชาวยุโรปเชื่อในคำสอนของคณะมิชชันนารีว่า ศาสนาของเราโง่งมงาย และชั่วทราม คนทั้งหลายก็จะต้องถือว่าพวกเราเป็นคนโง่งมงายและชั่วทรามไปด้วย ฉันจึงรู้สึกขอบคุณบรรดาบุคคล เช่น ท่านเป็นตัวอย่าง ที่สอนชาวยุโรปให้ความคารวะแก่ศาสนาของเรา
พระราชนิพนธ์
ทรงมีพระราชนิพนธ์ ทั้งหมด 10 เรื่อง
1 ไกลบ้าน
2 เงาะป่า
3 นิทราชาคริต
4 อาบูหะซัน
5 พระราชพิธีสิบสองเดือน
6 กาพย์เห่เรือ
7 คำเจรจาละครเรื่องอิเหนา
8 ตำรากับข้าวฝรั่ง
9 พระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
10 โคลงบรรยายภาพรามเกียรติ์
พระราชลัญจรกรประจำพระองค์
พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เป็นตรางา ลักษณะกลมรี กว้าง 5.5 ซ.ม. ยาว 6.8 ซ.ม. โดยมีตรา พระเกี้ยว หรือ พระจุลมงกุฏ ซึ่งประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า 2 ชั้น มีฉัตรบริวารตั้งขนาบทั้ง 2 ข้าง ถัดออกไปจะมีพานแว่นฟ้า 2 ชั้น ทางด้านซ้ายวางสมุดตำรา และทางด้านขวาวางพระแว่นสุริยกานต์เพชร โดยพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นการเจริญรอยจำลองมาจากพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว