สถานที่เที่ยวเมืองต้องห้ามพลาด…เมืองร้อยเรื่องราวริมทะเลสาบ พัทลุง
พัทลุง เมืองลุง หรือเมืองอกทะลุ คืออีกหนึ่งจังหวัดของภาคใต้ มีฐานะเป็นเมืองต้นกำเนิดศิลปะการแสดงที่ขึ้นชื่อคือ มโนห์ราและหนังตะลุง ซึ่งตกทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้มาเนิ่นนานนอกจากศิลปวัฒนธรรมชัดเจนของชาวใต้ที่ปรากฏในพัทลุงแล้ว แหล่งธรรมชาติสำคัญระดับประเทศ คือทะเลน้อยพื้นที่ชุ่มน้ำและทะเลสาบน้ำจืด อันเป็นแหล่งอาศัยของนกน้ำหลากหลายพันธุ์ ก็ตั้งอยู่ในจังหวัดนี้
“สะพานแห่งความสุข” สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
เขาเล่าว่า…สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นสะพานที่มีแต่ความสุข ใครมาเป็นต้องมีรอยยิ้ม เพราะสองข้างทาง คือ ภาพอันงดงามของวิถีธรรมชาติอันสมบูรณ์และเรียบง่าย วิวสวยๆ ของทะเลสาบสุดลูกหูลูกตา วิถีชีวิตควายน้ำ และนกนานาพันธุ์ แค่ได้ไปเห็นและได้สูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอดจะช่วยฟอกความเหนื่อยล้าให้แปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่งความสุขแล้วค่ะ
“ทะเลน้อย”
ทะเลน้อย เป็นทะเลสาบน้ำจืด อยู่ในอำเภอควนขนุนจังหวัดพัทลุงทางตอนเหนือของทะเลสาบสงขลาโดยมีคลองนางเรียมเชื่อมระหว่างทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลาทะเลน้อยเป็นบริเวณที่มีน้ำขังตลอดปี พืชส่วนใหญ่เป็นพืชน้ำที่โดดเด่นและสร้างสีสันให้กับทะเลน้อยได้แก่ สาหร่ายหางกระรอกสาหร่ายข้างเหนียว ที่มีดอกเล็กๆสีเหลือง สีม่วงสวยงาม บัวหลวง บัวสายบัวเเผื่อน เป็นต้นความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพในวงจรธรรมชาติของทะเลน้อยเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของนกน้ำนานาชนิดทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพใช้เป็นที่อาศัยช่วยเติมแต่งทะเลน้อยที่สวยงามจากมวลไม้น้ำได้มีความสมบูรณ์มีชีวิตชีวาตามครรลองของธรรมชาติ
สภาพพื้นที่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยทั้งหมด 450 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยส่วนที่เป็นพื้นดินและพื้นน้ำ ส่วนพื้นดินมีเนื้อที่ 422 ตารางกิโลเมตร หรือ ร้อยละ 94 ของพื้นที่ทั้งหมด ลักษณภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายทะเลสาบ ประกอบด้วยนาข้าวและป่าหญ้า ป่าพรุและป่าเสม็ด เป็นแอ่งน้ำมีพืชปกคลุม และที่ราบเชิงเทือกเขาบรรทัด มีเนินเขาสูงราว 100 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นน้ำมีเนื้อที่ 28 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 6 ของพื้นที่ทั้งหมด คือ ตัวทะเลน้อยนั่นเอง มีความกว้างราว 5 กิโลเมตร และยาว 6 กิโลเมตร ความลึกโดยเฉลี่ยราว 1.5 เมตร ปกคลุมด้วยพืชน้ำต่างๆ เช่น บัว กระจูด หญ้าน้ำกก ปรือ และ กง กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณน้ำตื้นและค่อนข้างนิ่ง
“น้ำตกไพรวัลย์”
น้ำตกไพรวัลย์ ตั้งอยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านพูด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ตำบลคลองเฉลิม เส้นทางเข้าใช้เส้นทางจากบ้านคลองหมวยไปตามถนนตำบลลำสินธุ์-บ้านกงหรา (ทางหลวงหมายเลข 4122) ประมาณ 20 กิโลเมตร มีทางเข้าน้ำตกอยู่ทางทิศตะวันตกเป็นทางลูกรังระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีความงดงามตามธรรมชาติเงียบสงบ และร่มเย็น อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดบริเวณน้ำตกมีลานจอดรถและ ร้านอาหารไว้บริการด้วย
“หมู่บ้านหัตถกรรมผลิตภัณฑ์กะลา”
ศูนย์รวมหัตถกรรมกะลามะพร้าวเมืองพัทลุง ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมผลิตภัณฑ์กะลาอันเลื่องชื่อ ผู้ก่อตั้งคือ นายปลื้ม ชูคง หรือที่เรียกขานกันว่า “ลุงปลื้ม” บรมครูด้านหัตถกรรมกะลามะพร้าวแห่งแดนใต้
หากพูดถึง “กะลามะพร้าว” เมื่อถูกมนุษย์เอาเนื้อออกไปรับประทานหมดแล้ว ก็เป็นเศษวัสดุที่ไม่ค่อยมีราคาค่างวดสักเท่าไร คนในสมัยก่อนมักนำไปทำเชื้อเพลิง หรืออย่างดีก็คิดเอาไปทำเครื่องใช้ในครัวเรือนเช่น กระบวยตักน้ำ ทัพพี ถ้วย ชาม ฯลฯ ความสำคัญของกะลามะพร้าวในสมัยก่อนมีไม่มากนัก จึงได้มีการเปรียบเปรยคนที่ใช้ชีวิตอย่างไร้คุณค่าเหมือน “กะโหลกกะลา” นั่นเอง
แต่สำหรับ “ลุงปลื้ม” แล้ว กะลามะพร้าวถือเป็นวัตถุดิบอันเลอค่า สามารถนำไปแปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายหลากชนิด ช่วยสร้างอาชีพและเม็ดเงินให้กับชุมชนเป็นอย่างดี โดยในปี พ.ศ. 2536 กลุ่มหัตถกรรมกะลามะพร้าวมีรายได้จากการจำหน่ายผลงานมากถึง 3.4 ล้านบาทเลยทีเดียว และด้วยรายได้ที่มากมายเช่นนี้ จึงทำให้ศูนย์รวมหัตถกรรมกะลามะพร้าวเมืองพัทลุงได้รับฉายาว่า “หมู่บ้านกะลาเงินล้าน”
ผู้ที่เดินทางมาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้จะได้เรียนรู้ขั้นตอนกระบวนการผลิต และชมงานหัตถกรรมกะลามะพร้าวซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ ตั้งแต่พวงกุญแจรูปต่างๆ เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายสุภาพสตรี เครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน ไปจนถึงเครื่องตกแต่งบ้านอย่างโคมไฟและตะเกียงเจ้าพายุที่ออกแบบได้อย่างมีสไตล์ ผลงานอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความประณีตสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว น่ามีครอบครองไว้สักชิ้น ดังนั้นหากคุณมีโอกาสได้มาเยือนเมืองพัทลุงแล้วล่ะก็ อย่าลืมแวะมาเลือกซื้อเลือกชมสินค้าหัตถกรรมคุณภาพของลุงปลื้มที่ “หมู่บ้านกะลาเงินล้าน” แห่งนี้
“วัดถ้ำคูหาสวรรค์”
วัดถ้ำคูหาสวรรค์ ตั้งอยู่ที่ถนนคูหาสวรรค์ใกล้ๆ ตัวตลาดพัทลุงจะมีทางเลี้ยวซ้ายมือที่เขาหัวแตก จะเป็นทางไปสู่วัดถ้ำคูหาสวรรค์ วัดนี้สร้างในสมัยอยุธยา ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในจังหวัดพัทลุง ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ และพระพุทธรูปนั่งประดิษฐานอยู่ตามผนังถ้ำ และบริเวณหน้าถ้ำมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ ปรากฎอยู่
“วังเจ้าเมืองพัทลุง”
วังเจ้าเมืองพัทลุง หมู่ที่ 4 ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง อยู่ห่างจากตัวเมืองพัทลุงไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 6 กิโลเมตร เดินทางโดยทางรถยนต์ตามทางหลวง พัทลุง – ลำปำ (หมายเลข 4047) ซึ่งเป็นทางลาดยางโดยตลอด และมีรถประจำทางบริการรับส่ง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 นาที
เดิมเป็นที่ว่าราชการและเป็นที่พักอาศัยของเจ้าเมืองพัทลุง ปัจจุบันยังเหลืออยู่ส่วนหนึ่ง คือ วังเก่า สร้างในสมัยพระยาพัทลุง (น้อย จันทโรจวงศ์) เป็นเจ้าเมืองพัทลุง ต่อมาวังได้ตกทอดมาจนถึงนางประไพ มุตตามระ บุตรีของหลวงศรีวรวัตร ส่วนวังใหม่สร้างเมื่อ พ.ศ.2432 โดยพระยาอภัยบริรักษ์จักรวิชิตพิพิธภักดี (เนตร จันทโรจวงศ์) บุตรชายของพระยาพัทลุง ซึ่งเป็นเจ้าเมืองพัทลุงคนต่อมา ปัจจุบันวังนี้ทายาทตระกูล “จันทโรจวงศ์” ได้มอบให้เป็นสมบัติของชาติ
ปัจจุบันวังเจ้าเมืองพัทลุงได้รับการดูแลโดยกรมศิลปากร การเข้าชมต้องเสียค่าผ่านประตู คนไทย 5 บาท คนต่างชาติ 30 บาท เปิด 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. ปิดในวันจันทร์อังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์
วังเก่า ผู้สร้างและเป็นเจ้าของวัง คือ พระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์) เจ้าเมืองพัทลุงระหว่างปี พ.ศ. 2412-2431 เดิมเป็นเจ้าเมืองปะเหลียน หัวเมืองจัตวาขึ้นกับเมืองพัทลุง ในปี พ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 4) มีพระราชประสงค์ให้พระวรนารถสัมพันธ์พงษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์) เจ้าเมืองปะเหลียนมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง แต่ยังไม่ทันโปรดเกล้าฯ พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระยาวรนารถสัมพันธ์พงษ์จึงรั้งเมืองพัทลุง จนถึง พ.ศ. 2412 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 5) จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาอภัยบริรักษ์จักรวิชิตภักดี พิริยพาหะ เจ้าเมืองพัทลุง
พระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์) ได้สร้างที่พำนักซึ่งใช้เป็นที่ว่าราชการเมืองด้วย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในปีใด ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงอยู่ 19 ปี จนถึง พ.ศ. 2431 จึงได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ ด้วยชราภาพและทุพพลภาพจักษุมืดมัวแลไม่เห็นทั้งสองข้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จางวางกำกับราชการ และพระราชทานราชทินนามให้เป็นพระยาวรวุฒิไวย วัฒลุงควิสัย อิศรศักดิ์พิทักษ์ราชกิจ นริศราชภักดี อภัยพิริยพาหะ และโปรดเกล้าฯ ให้หลวงจักรานุชิต (เนตร จันทโรจวงศ์) บุตรชายคนโตซึ่งเป็นผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุงอยู่นั้นเป็นพระยาอภัยบริรักษ์ฯ เจ้าเมืองพัทลุงคนต่อมา
พระยาวรวุฒิไวยฯ (น้อย จันทโรจวงศ์) ได้พำนักอยู่ที่วังเก่าจนถึงอนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2446 วังเก่าจึงตกเป็นมรดกแก่บุตรชายของท่าน คือ หลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) หลังจากนั้นก็ตกทอดเป็นมรดกของคุณประไพ มุตตามระ บุตรีของหลวงศรีวรวัตร ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของพระยาวรวุฒิไวยฯ ก่อนจะมอบวังเก่าให้แก่ กรมศิลปากร
สภาพปัจจุบันเป็นเรือนไทยภาคใต้ผสมภาคกลาง มีเรือนใหญ่ทรงไทยแฝดอยู่ตรงกลาง ตัวเรือนยกพื้นสูง เสากลมปักดิน หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ด้านหน้าเรือนใหญ่เป็นเฉลียงยื่นไปทางทิศตะวันตก ถัดไปเป็นชานสำหรับใช้ว่าราชการหรือประกอบพิธีการต่างๆ สุดชานเป็นเรือนครัว มีบันไดขึ้น 2 ทาง คือด้านทิศใต้และทิศเหนือ ทายาทตระกูลจันทโรจวงศ์เล่าว่า วังเก่านั้นเดิมเป็นเรือนไทยแฝดสามหลังติดกันใต้ถุนสูง หลังที่ 1 และ 2 ทำเป็นห้องนอน ห้องแม่ทานเป็นห้องที่ 3 ลักษณะเป็นห้องยาวครอบคลุมพื้นที่แนวห้องโถงหน้าเรือนหลังที่ 1 และ 2 ด้วย การที่จะเข้าไปยังห้องแม่ทาน จะต้องเข้าทางประตูที่ติดกับห้องโถงหน้าเรือนหลังที่ 2 หน้าห้องโถงของเรือนที่ 1 และ 2 เป็นระเบียงลดระดับลงไป จากห้องโถงหน้าห้องนอน ยาวเลยไปจนสุดแนวของห้องแม่ทานด้วย แต่ระเบียงส่วนที่บังห้องแม่ทานอยู่นั้นกั้นเป็นห้องเก็บของขนาดเล็ก เรียกว่า “ห้องระเบียง” เรือนแฝดทั้งสามหลังนี้จั่วขวางตะวัน ระเบียงนี้ติดกับนอกชาน ซึ่งมีระดับต่ำลงไปพอที่คนสามารถนั่งห้อยขาได้สบายโดยเท้าไม่สัมผัสพื้นนอกชาน ด้านทิศใต้ของนอกชานแนวเดียวกับห้องแม่ทานมีเรือนขนาดเล็กซึ่งมีห้องนอนเดี่ยว เป็นเรือนหลังเล็กแต่นิยมเรียกว่า “ห้องเล็ก” เข้าใจว่าเป็นที่พำนักของพระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร จันทโรจวงศ์) ก่อนเป็นเจ้าเมืองและก่อนสร้างวังใหม่ ระหว่างเรือนหลังเล็กกับเรือนแฝด มีชานขนาดเล็กคั่นอยู่ มีโอ่งมังกรขนาดใหญ่รูปไข่ไว้ใส่น้ำที่บ่าวไพร่หาบจากคลองลำปำมาให้เจ้าเมืองอาบ ตรงข้ามกับเรือนแฝดสามหลัง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของชานเรือนเป็นเรือนยาวทอดจากทิศใต้ไปทิศเหนือ กั้นเป็นห้องๆ ใช้เป็นยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือก ข้าวสาร ห้องครัว ห้องเก็บของ และห้องสุขา วังเก่าเมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ คงมีสิ่งปลูกสร้างเพียงเท่านี้ วัสดุที่ใช้ในการสร้างเป็นไม้ทั้งหมด วิธีการประกอบเรือนใช้ “ลูกสัก” หรือลิ่มไม้เชื่อมยึดแทนตะปู ซึ่งเป็นวิธีของช่างไทยแต่โบราณ ภายหลังการบูรณะ ชานเรือนหายไปแต่มีลานปูกระเบื้องดินเผาเข้ามาแทนที่ เพราะไม้เนื้อแข็งในปัจจุบันหายาก และมีปัญหาในการดูแลรักษา จึงพิจารณาและบูรณะให้เหมือนเดิมไม่ได้
วังใหม่ พระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร จันทโรจวงศ์) เป็นผู้สร้างวังใหม่ขึ้นด้านหลังวังเก่าทางด้านทิศใต้ติดกับลำคลองลำปำ จึงมีชาวบ้านเรียกวังใหม่นี้ว่า “วังใหม่ชายคลอง” หรือ “วังชายคลอง” แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียกเท่าชื่อ “วังใหม่”
ช่วงที่พระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร จันทโรจวงศ์) ปกครองเมืองพัทลุง เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีนโยบายปฏิรูปการปกครองหัวเมืองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งเป็นการยกเลิกเจ้าผู้ครองนคร เจ้าเมือง เจ้าประเทศราช โดยปริยาย ปี พ.ศ. 2439 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช โดยรวมเมืองนครศรีธรรมราช สงขลาและพัทลุง เข้าเป็นมณฑลเดียว ถึงปี พ.ศ. 2443 ได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง พระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร จันทโรจวงศ์) จึงเป็นเจ้าเมืองพัทลุงคนสุดท้าย และเป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงในระบบใหม่คนแรก
วังใหม่ เป็นกลุ่มเรือนไทย 5 หลัง ยกพื้นสูงล้อมรอบชานบ้านที่อยู่ตรงกลางเป็นลานทรายก่อด้วยกำแพงอิฐกั้นทรายไว้ กลุ่มเรือนไทย 5 หลังประกอบด้วยเรือนประธานซึ่งเป็นที่พักของพระยาอภัยบริรักษ์ฯ เจ้าเมือง พร้อมภรรยาและบุตร ลักษณะเป็นเรือนแฝด 2 หลัง ภายในมีห้องนอนหลายห้อง ที่ห้องนอนเจ้าเมืองพื้นห้องทำเป็นช่องลับมีกระดานปิดไว้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินเจ้าเมืองสามารถหลบหนีออกไปสู่ริมฝั่งคลองลำปำได้ หน้าห้องนอนเป็นห้องโถง เข้าใจว่าเป็นที่สำหรับเจ้าเมืองว่าราชการ มีระเบียงลดระดับลงไป 2 ด้าน เข้าใจว่าเป็นที่นั่งของข้าราชการระดับต่างๆ เมื่อเข้าประชุมปรึกษาข้อราชการ ถัดลงไปเป็นลานบ้านซึ่งเป็นลานทราย กลางลานมีต้นชมพู่ขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง มีแท่นก่อด้วยอิฐรอบเป็นที่นั่ง ส่วนเรือนไทยอีก 4 หลังที่ล้อมรอบลานบ้าน สามหลังเป็นเรือนขนาดเล็ก มีห้องนอนและระเบียงหน้าห้องเหมือนกัน ใช้เป็นที่อยู่ของอนุภรรยาและบุตร อีกหลังหนึ่งเป็นเรือนครัว เรือนทุกหลังสร้างด้วยไม้แบบเรือนไทยโบราณ
วังเจ้าเมืองพัทลุงเป็นมรดกของทายาทในสายตระกูลจันทโรจวงศ์ ทายาทได้มอบให้กรมศิลปากรเพื่อเป็นสมบัติของชาติ มีการประกอบพิธีรับมอบวังใหม่ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2525 ต่อมาทายาทอีกส่วนหนึ่งที่ครอบครองวังเก่า เห็นควรมอบวังเก่าซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกันให้แก่กรมศิลปากรด้วย ได้ประกอบพิธีรับมอบวังเก่าเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2527
กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ จนสามารถคืนสภาพวังเจ้าเมืองพัทลุงจากเรือนไม้เก่าคร่ำคร่า กลายเป็นอาคารสถาปัตยกรรมเรือนไทยท้องถิ่นภาคใต้ที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง และได้ทำพิธีเปิดวังเจ้าเมืองพัทลุง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นประธานในพิธี
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนวังใหม่ ในราชกิจกนุเบกษาแล่มที่ 100 ตอนที่ 88 วันที่ 31 พฤษภาคม 2526 เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 3 งาน 75 ตารางวา ส่วนวังเก่าประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 109 ตอนที่ 90 วันที่ 16 กรกฎาคม 2535 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 3 งาน 75 ตารางวา (กรมศิลปากร 2533 : 248)
“วัดวัง”
วัดวัง เป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดพัทลุง ตั้งอยู่ที่ตำบลลำปำ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ไม่ทราบศักราชที่แน่ชัด เนื่องจากหลักฐานยังขัดแย้งกันอยู่ สำหรับชื่อของ “วัดวัง” นั้นมีที่มา 2 นัย นัยหนึ่งว่าทางทิศใต้ของวัดมีวังน้ำที่ลึกมาก เรียกว่า “หัววัง” จึงเรียกวัดวัง ส่วนอีกนัยหนึ่งว่า เพราะตั้งอยู่ใกล้กับ “วังเจ้าเมืองพัทลุง” จึงเรียกวัดวัง
วัดวัง ถือเป็นวัดสำคัญที่อยู่คู่เมืองพัทลุงมาตลอดสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองพัทลุงมาแล้วในอดีต จนกระทั่งทางราชการได้ยกเลิกพิธีดังกล่าวไป ปัจจุบันวัดวังยังคงเป็นวัดสำคัญที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาในวาระต่างๆ และยังเป็นแหล่งรวมศิลปกรรมที่งดงามให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ศึกษากัน
ในบริเวณวัดแห่งนี้มีสิ่งน่าสนใจมากมายเช่น พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ หลังคาทรงไทยมุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา ด้านหน้ามีมุขเด็จยื่นออกมา ด้านในของพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่น บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและเทพชุมนุม และบริเวณระเบียงคดโดยรอบมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางต่างๆ ประดิษฐานเรียงรายทั้งสิ้น 108 องค์ มี ธรรมาสน์ จำหลักไม้ลายทองรูปดอกไม้พรรณพฤกษา เป็นธรรมาสน์ที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อทรงพระราชอุทิศในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2453 มี ตู้พระธรรมลายรดน้ำ อยู่บนกุฏิเจ้าอาวาส ลักษณะเป็นตู้สี่เหลี่ยมแบบขาสิงห์ เขียนลายรดน้ำกนกก้านแย่งประกอบลายสัตว์ เป็นศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และยังมี โอ่งน้ำ สมัยราชวงศ์ชิงจำนวน 2 ใบ ที่เคยใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองพัทลุงเมื่อครั้งอดีต ให้ได้ชมกันด้วย