โบราณสถานและประวัติศาสตร์ (Historic building)
วัดคูหาภิมุข
หรือเรียกอีกอย่างว่า “วัดหน้าถ้ำ” เป็นหนึ่งในสามปูชนียสถานที่สำคัญของภาคใต้ เช่นเดียวกับพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และพระบรมธาตุไชยาที่สุราษฎร์ธานี แสดงถึงความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าถ้ำ ห่างจากตัวเมือง 8 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางไปอำเภอยะหา บริเวณวัดร่มรื่นมีธารน้ำไหลผ่าน บันไดขึ้นไปยังปากถ้ำมีรูปปั้นยักษ์ ชาวบ้านเรียกว่า “เจ้าเขา” สร้างโดยช่างพื้นบ้านเมื่อปี พ.ศ. 2484 ภายในถ้ำมีลักษณะคล้ายห้องโถงใหญ่ ดัดแปลงปรับปรุงเป็นศาสนสถาน มีปล่องที่เพดานถ้ำยามแสงแดดส่องลงมาดูสวยงามมาก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ปี พ.ศ. 1300 เป็นพระพุทธไสยาสน์สมัยศรีวิชัย ที่มีขนาดความยาว 81 ฟุต 1 นิ้ว เชื่อกันว่าเดิมเป็นปางนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพราะมีภาพนาคแผ่พังพานปกพระเศียร ต่อมาจึงได้ดัดแปลงเป็นพระพุทธไสยาสน์แบบหินยาน
มัสยิดกลางจังหวัดยะลา
เป็นมัสยิดใหญ่ประจำจังหวัดยะลา มัสยิดแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่สอดแทรกเส้นกรอบทรงสุเหร่าไว้ได้อย่างกลมกลืน ด้านหน้าเป็นบันไดกว้าง สูงประมาณ 30 ขั้น ทอดสู่ลานชั้นบน หลังคาทรงสี่เหลี่ยมมีโดมใหญ่อยู่ตรงกลาง นอกจากนี้ยังมีโรงแรมที่พักในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
ศาสนสถาน (Religious Site)
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองยะลา
ตั้งอยู่ถนนพิพิธภักดี หน้าศาลากลางจังหวัดยะลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยอดเสาหลักเมืองให้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ภายในศาลประดิษฐานยอดเสาหลักเมือง ซึ่งสร้างด้วยแก่นไม้ชัยพฤกษ์สูง 50 เซนติเมตร วัดโดยรอบที่ฐาน 43 นิ้ว ที่ปลาย 36 นิ้ว พระเศียรยอดเสาเป็นรูปพรหมจตุรพักตร์และเปลวไฟ บริเวณโดยรอบเป็นสวนสาธารณะ ร่มรื่น สวยงาม และจะมีการจัดงานสมโภชเจ้าพ่อหลักเมือง ระหว่างวันที่ 25–31 พฤษภาคม ของทุกปี
พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ
พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ เป็นพระธาตุเจดีย์แบบทวาราวดีศรีวิชัย ตั้งอยู่ที่วัดพุทธาธิวาส ถนนรัตนกิจ ในตัวเมืองเบตง โดยตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขา มีขนาดความกว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร เป็นมหาธาตุเจดีย์ที่สวยงามและใหญ่ที่สุดในภาคใต้ โดยในองค์มหาธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มหาธาตุเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองและถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา
สวนสาธารณะและอุทยาน (Park & National Park)
อุทยานแห่งชาติบางลาง
อุทยานแห่งชาติบางลาง มีสภาพภูมิประเทศหลากหลายส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน สลับกับที่ราบ ซึ่งเป็นทุ่งหญ้า มีทั้งเป็นภูเขาหินปูน หินแกรนิต หินอัคนี และหินกรวดขนาดใหญ่ และเป็นผืนน้ำที่กว้างใหญ่ ซึ่งเกิดจากจากการก่อสร้างเขื่อนบางลาง มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 100 – 1,200 เมตร ประกอบด้วยเขาฮาลา เขาลาซะ เขาบูโละ และเขาฮันกุล ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนดินเหนียวมีดินลูกรังเป็นบางส่วน เป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำหลายสายไหลมาบรรจบเป็นแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี ประกอบด้วยคลองและลำห้วยหลายสาย อาทิเช่น คลองชาลี คลองนีโล คลองกาวะ คลองกือนือฮง คลองโต๊ะโมะ คลองฮาลา คลองกาบู และคลองฮาลาซะห์
การเดินทาง
จากตัวเมืองยะลา ตามทางหลวงแผ่นดินสายยะลา – เบตง หมายเลข 410 แยกทางขวาตรงหลักกิโลเมตรที่ 56 ไปเส้นทางเข้าน้ำตกประมาณ 150 เมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติบางลางและเข้าไปอีกประมาณ 900 เมตร ถึงน้ำตกที่มีความงามถึง 9 ชั้น ของน้ำตกธารโตสามารถเดินทางโดยรถยนต์ ส่วนตัวหรือรถโดยสารประจำทาง
รถยนต์
ยะลาอยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ 1,084 กิโลเมตร ผ่านชุมพร – สุราษฎร์ธานี – นครศรีธรรมราช – สงขลา – ปัตตานี – ยะลา
รถไฟ
การรถไฟแห่งประเทศไทยบริการเดินรถกรุงเทพฯ – ยะลา ทุกวัน ทั้งรถด่วนและรถเร็ว
รถโดยสารประจำทาง
มีรถปรับอากาศของขนส่งและเอกชนบริการ
แหล่งท่องเที่ยว
เขื่อนบางลาง: เขื่อนบางลางนับเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเอนกประสงค์แห่งแรกในภาคใต้ของประเทศ ตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำปัตตานี ทั้งนี้ เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า ยังมีไม่เพียงพอ การก่อสร้างเขื่อนบางลาง ได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ก็ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากราษฎร หน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนแห่งนี้จึงอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในภูมิภาคนี้ของประเทศอย่างแท้จริง
ผืนป่าฮาลา-บาลา: ป่าฮาลา และป่าบาลา เป็นผืนป่าดงดิบที่ไม่ต่อเนื่องกัน แต่ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเดียวกัน คือ ป่าฮาลา ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และป่าบาลา พื้นที่ครอบคลุมอำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเรียกขานป่าผืนนี้ด้วยการนำชื่อชุมชนของตนเองเป็นตัวตั้ง คือ หากเป็นผู้คนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จะเรียกป่าผืนนี้ว่า ‘บาลา-ฮาลา’ ส่วนคนในพื้นที่จังหวัดยะลา จะเรียกว่า ‘ฮาลา-บาลา’
ภูมิประเทศโดยรวมของป่าฮาลา-บาลา มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ความสูงจากระดับน้ำทะเล ต่ำสุด 100 เมตร สูงสุด 1,466 เมตร เป็นป่าดงดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อน มีความชื่นสูงตลอดปี ตั้งอยู่บริเวณตอนใต้สุดของประเทศไทย มีแนวป่าต่อเนื่องกับป่าเบลุ่มทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย เมื่อรวมพื้นที่เข้าด้วยกันทั้งฝั่งไทยและมาเลเซีย จัดได้ว่าผืนป่าแห่งนี้เป็นป่าฝนเขตร้อนที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดบนคาบสมุทรมลายู พื้นที่มีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมากกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อปี
น้ำตกฮาลาซะห์: ตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติบางลางที่ บล.2 ห่างจากตัวเมืองยะลา ประมาณ 90 กิโลเมตร โดยแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 สายยะลา-เบตง เข้ามางเขื่อนบางลาง น้ำตกมีความสูงประมาณ 100 เมตร นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงยังมีโป่งดิน ที่สัตว์ลงมาหากิน 4-5 แห่ง เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าฮาลา ประวัติศาตร์ หมู่บ้านจุฬาภรณ์ฯ เป็นภูเขาสลับซับซ้อน เป็นภูเขาดินและหิน ส่วนมากเป็นหินอัคนี และหินกรวดขนาดใหญ่ สภาพป่าเป็นป่าดงดิบชื้นอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญ เช่น แม่น้ำปัตตานี เป็นต้น
น้ำตกละอองรุ้ง: อยู่ที่ตำบลถ้ำทะลุ ห่างจากตัวเมืองยะลาไปตามถนนสายยะลา-เบตง (ทางหลวง 410) กิโลเมตรที่ 47-48 มีทางแยกขวาไปอีกราว 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ 7 ชั้น มองเห็นเป็นทางน้ำที่ไหลลดหลั่นมาจากภูเขาสูง มีแอ่งน้ำซึ่งสามารถเล่นน้ำได้ โดยรอบร่มรื่นไปด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจมากมายรวมทั้งต้นศรียะลา หรืออโศกเหลือง ซึ่งจะออกดอกชูช่อสีเหลืองสวยงามในราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
น้ำตกธารโต: เป็นน้ำตกที่มีสีขาวสะอาด น้ำตกลงเป็นชั้นลดหลั่นลงมาสวยงามมาก เนื่องจากอยู่ในเขตพื้นที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ จะพบวนอุทยาน และป่าสงวนแห่งชาติมีพื้นที่กว่า 1,000 ไร่เศษ เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด สัตว์ป่าและกลิ่นไอธรรมชาติ สงบร่มรื่นเย็นฉ่ำด้วยธารน้ำที่ไหลผ่านหน้าผา 7 ชั้น เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี 9 ชั้น ความสูงของน้ำตกเฉลี่ยประมาณ 20 เมตร
แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ (Other Attractions)
หมู่บ้านซาไก
ตั้งหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแหร ห่างจากตัวจังหวัดยะลาไปทางเบตงประมาณ 80 กิโลเมตร ด้านขวามือ มีทางเข้าไปยังหมู่บ้านที่อาศัยของชนเผ่าซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “เงาะซาไก” เดิมดำรงชีวิตอยู่ด้วยการหาของป่า มีความชำนาญในด้านสมุนไพรและเป่าลูกดอกล่าสัตว์ บ้านเรือนของซาไกเดิมสร้างด้วยไม้ไผ่และมุงหลังคาจาก ต่อมากรมประชาสงเคราะห์ได้พัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้ โดยรวบรวมชาวซาไกมาอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน และให้มีอาชีพทำสวนยางและได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขอใช้คำว่า “ศรีธารโต” ให้ทุกคนใช้เป็นนามสกุล ปัจจุบันมีชนเผ่าซาไกที่ยังคงอาศัยอยู่บ้าง แต่บางส่วนได้แยกย้ายไปทำงานที่อื่น
หอนาฬิกา
อยู่ที่บริเวณสี่แยกใจกลางเมืองเบตง เป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง สร้างด้วยหินอ่อนที่สวยงาม นอกจากนี้ยังมีโรงแรมที่พักในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
เมืองเบตง
ตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2467 ตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จุดประสงค์ที่สร้างไว้ในครั้งแรก ก็เพื่อใช้เป็นที่กระจายข่าวสารบ้านเมืองให้ชาวเมืองเบตงได้รับฟังจากวิทยุที่ฝังอยู่ส่วนบนของตู้ และใช้เป็นตู้ไปรษณีย์มาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันได้มีการสร้างตู้ไปรษณีย์ขึ้นใหม่ใหญ่กว่าเดิมที่บริเวณศาลาประชาคม ถนนสุขยางค์ ซึ่งมีความสูงประมาณ 9 เมตร เป็นจุดเด่นที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก