อุทยานราชภักดิ์ พระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ ๗ พระองค์

558000009708901

อุทยานราชภักดิ์ พระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์  ๗  พระองค์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองทัพบกจัดสร้าง “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม” พร้อมจัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์ โดยพระราชทานชื่อให้ว่า “อุทยานราชภักดิ์” ซึ่งเป็นอุทยานที่สร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ๗ พระองค์ ได้แก่

๑. พ่อขุนรามคำแหง (สมัยกรุงสุโขทัย)
๒. สมเด็จพระนเรศวร (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
๓. สมเด็จพระนารายณ์ (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
๔. สมเด็จพระเจ้าตากสิน (สมัยกรุงธนบุรี)
๕. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
๖. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
๗. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

ซึ่งทุกพระองค์ล้วนทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ

2-8-58-25

175600

กองทัพบกได้ดำเนินการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์  ภายในพื้นที่ของกองทัพบก  อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้พื้นที่ก่อสร้างรวมทั้งสิ้น ๒๒๒ ไร่เศษ  ซึ่งองค์ประกอบภาพรวมของอุทยานราชภักดิ์  จะมีโครงสร้างหลักที่สำคัญ  จำนวน  ๓  ส่วนหลัก  ประกอบด้วย

ส่วนที่ ๑ :   พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์ แห่งสยาม จำนวน ๗ พระองค์

ส่วนที่ ๒ :   ลานอเนกประสงค์ มีเนื้อที่ประมาณ ๗๑ ไร่ ใช้สำหรับกระทำพิธีที่สำคัญของกองทัพ และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ

ส่วนที่ ๓ :  อาคารพิพิธภัณฑ์ หรือห้องจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์  โดยการค้นคว้า  รวบรวม  และจัดทำพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญของบูรพกษัตริย์ไทย   ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์   โดยจะดำเนินการจัดสร้างบริเวณด้านล่างของฐานพระบรมราชานุสาวรีย์

พื้นที่ส่วนที่เหลือจำนวน  ๑๒๖  ไร่   จะเป็นสภาพภูมิทัศน์โดยรอบ และการจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวก

11895549_1102766446418256_1908302179_o-1024x683

29F427BA28734668A507C8A0E26D3989

aa241

PNOHT580525001025105_25052015_073128

1008m14

14399648571439964957l

มหาราชของชาติไทย

คำว่า   “มหาราช”   มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.๒๕๒๕   หมายถึง   คำซึ่งมหาชนถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน   หรืออีกความหมายหนึ่งคือ  ธงประจำพระองค์  พระเจ้าแผ่นดิน  ที่เรียกว่า  ธงมหาราช  การถวายพระราชสมัญญา  มหาราช  แด่ พระมหากษัตริย์ของไทยในอดีตที่ผ่านมานั้น   ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ   แต่เป็นมติของมหาชนในสมัยต่อมาที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  จึงได้ถวายพระสมัญญาต่อท้ายพระนามว่ามหาราช  หรือพระราชสมัญญาอื่นที่แสดงถึงพระเกียรติคุณเฉพาะพระองค์  และเป็นที่ยอมรับในการขานพระนามสืบมา

การเริ่มการถวายพระราชสมัญญา   “มหาราช”   ต่อท้ายพระนามพระมหากษัตริย์นั้นสันนิษฐานว่าเริ่มมีขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ประมาณรัชกาลที่ ๔ หรือ ๕   เนื่องจาก เป็นสมัยที่เริ่มมีการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของชาติและบรรพบุรุษมากขึ้น ทำให้ประจักษ์ถึงวีรกรรม  และพระราชอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นๆ  จึงได้มีการยกย่องพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่ทรงมีพระเกียรติคุณเด่นกว่า  พระองค์อื่นขึ้นเป็น มหาราช ในเรื่องของการริเริ่มถวายพระราชสมัญญามหาราชต่อท้ายพระนามพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่างๆ  นั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงอธิบายไว้ในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ดังนี้

“… ที่เพิ่มคำ   “มหาราช”   เข้าต่อท้ายพระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้น ในหนังสือไทยมีหนังสือพระราชพงศาวดาร เรียก   “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ”  ก่อนที่ใช้คำ   “มหาราช”   หมายอย่าง The Great  ของฝรั่ง คนอื่นเขาก็ใช้มาก่อนหม่อมฉัน เป็นแต่ตามเขาหาได้เป็นผู้ริใช้ไม่ สังเกตดูพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งที่มีคำธีเกรตอยู่หลังพระนาม   คำนั้นย่อมเพิ่มเข้าต่อเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นล่วงลับไปแล้วบางที่   ก็ช้านาน และเพิ่มเข้าต่อเมื่อมีพระเจ้าแผ่นดินพระนามพ้องกัน  โดยปกติมักเรียกพระองค์ก่อนว่า   “ที่ ๑”   พระองค์หลังว่า   “ที่ ๒”   และเปลี่ยนตัวเลขต่อไปตามลำดับ   ถ้าพระองค์ใดเป็นอัจฉริยบุรุษจึงใช้คำธีเกรตแทนที่เลข  จะยกตัวอย่างดังเช่น เอมเปอเรอวิลเฮมเยอรมัน เมื่อพระเจ้าวิลเฮม (ไกเซอ) เสวยราชย์ก็เรียกพระองค์แรกว่า  ที่ ๑  พระองค์หลังว่าที่ ๒   มาหลายปี จนเยอรมันต่อเรือใหญ่ลำหนึ่ง อย่างวิเศษสำหรับพาคนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค พระเจ้าไกเซอ ประทานนามเรือนั้นว่า เอมเปอเรอวิลเฮม ธีเกรต แต่นั้นมาจึงเรียกเอมเปอเรอ พระองค์นั้นว่า ธีเกรต คือ มหาราช ที่ไทยเราเอามาใช้ไม่ตรงตามแบบฝรั่ง เพราะไม่ได้เรียกพระนามซ้ำกัน เรียกเพราะเป็นอัจฉริยบุรุษอย่างเดียว…”

ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงได้รับการเทิดทูนยกย่องว่าเป็นมหาราชของชาติไทย  ๘ พระองค์   มีรายพระนาม ดังนี้

๑. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรือง ให้แก่อาณาจักรสุโขทัย ทรงขยายอาณาจักรให้กว้างขวาง ปกครองประชาราษฎร์ ให้ได้รับความสุข ยุติธรรมเสมือน   “พ่อปกครองลูก”   ทรงส่งเสริมการค้าโดยเสรี   ทรงริเริ่มประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เอง เมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๖   นับเป็นต้นกำเนิดอักษรไทยที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ และ  ทรงรับเอาพระพุทธศาสนาจากลังกาเข้ามา   เป็นศาสนาประจำชาติไทย

s2-156

๒. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย   ภายหลังที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑   ในรัชสมัยของพระองค์ ทรงทำการศึกสงคราม และเอาชนะข้าศึกหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญที่สุดคือ ใน พ.ศ.๒๑๓๕ พระมหาอุปราชาของพม่าได้ยกทัพมาตีไทย   พระองค์ทรงชนช้างกระทำยุทธหัตถี และทรงฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง   ตั้งแต่นั้นมาพม่าก็เกรงกลัว เลิกยกทัพมารุกรานไทยอีก

๓. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ในการปกครองประเทศ   ทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ทรงติดต่อเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ทรงติดต่อการค้ากับชาวต่างชาติ และเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ก็ทรงแก้ไขด้วยความเฉลียวฉลาด ทรงพระปรีชาในด้านกวี และทรงส่งเสริมการกวี จนเป็นเหตุให้เกิดมีกวีที่มีชื่อเสียงหลายคน มีวรรณคดีเกิดขึ้นหลายเล่ม  นับเป็นยุคทองแห่งวรรณคดีไทย

๔. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   หรืออีกพระนามหนึ่งว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี   พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ และ  สร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ของไทย   ทรงปราบปรามผู้ก่อตั้งชุมนุมต่างๆ จนราบคาบ และรวบรวมประเทศชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทรงกระทำสงครามจนได้รับชัยชนะ   ขยายอาณาเขตประเทศออกไปอย่างกว้างขวาง

rama_v_2_p

๕. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีของไทย   ทรงกระทำศึกสงครามกับพม่าหลายครั้ง ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ทรงสร้างปราสาทราชวัง ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเวียงจันทร์ สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวัดอื่นๆ ทรงรื้อฟื้นสังคยานาพระไตรปิฎก รวบรวมกฎหมายตราสามดวง และโปรดให้แต่งบทละครต่างๆ ขึ้นแทนของเก่าที่ถูกพม่าเผาทำลาย

๖. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชา   เป็นที่รักยิ่งของประชาชน ทรงนำประเทศชาติรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจหลายครั้ง   จนประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเซียเฉียงใต้ ที่รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น ทรงปรับปรุงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ  ทรงโปรดให้เลิกทาส ให้มีการรถไฟ การไปรษณีย์ การไฟฟ้าและการประปาขึ้นเป็นครั้งแรก

๗. พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาในด้านอักษรศาสตร์   ทั้งพระราชนิพนธ์ บทละคร ประวัติศาสตร์ เรื่องแปล สารคดี เรื่องปลุกใจให้รักชาติ ทรงนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑   ทรงตั้งกองลูกเสือไทย ส่งเสริมการศึกษา ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ทรงสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งธนาคาร ประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล ออกแบบธงไตรรงค์ขึ้นใช้

05

๘. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช   พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปรียบเสมือน “พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย” ทรงพระปรีชาสามารถในทุกแขนงวิชา ทรงรักและห่วงใยพสกนิกร และแก้ไขปัญหาต่างๆ ทรงริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิต่างๆ ทรงค้นคว้า วิจัย การทำฝนเทียม ด้านการเกษตร การชลประทาน การสาธารณสุข และอื่นๆอีกมากมาย ทรงส่งเสริมความรักและสามัคคีให้เกิดในชาติ ทรงดูแลทุกข์สุขประชาชน ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงงานหนักมากที่สุดของโลก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน สืบเนื่องจากคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี และถวายชัยมงคลของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เมื่องานสโมสรสันนิบาต เนื่องในวโรกาสวันฉัตรมงคล วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ ณ ทำเนียบรัฐบาล ดังปรากฏดังนี้

“… เมื่อประชาชนชาวไทยในปัจจุบันได้พิจารณาข้อความจารึกที่ฐานพระบรมราชานุสรณ์  ณ  ลานพระราชวังดุสิต ถึงปัจจัยที่ประชาชนในกาล ๘๐ ปีก่อนโน้น น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็ประจักษ์ชัดว่าพระบรมราชคุณูปการแห่งพระมหาราชเจ้าพระองค์นั้น  มิได้ผิดเพี้ยนไปจากพระมหากรุณาธิคุณแห่งใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแม้แต่น้อย ดังนั้นอาณาประชาราษฎร์แห่งใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  ก็ยิ่งทวีความปิติปราโมทย์   มีสามัคคีสมานฉันท์เทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้า และภาคภูมิใจนักที่ได้มีพระบรมธรรมิกราช   ผู้ทรงยิ่งด้วยพระขัตติยวัตรธรรม จึงขอ พระราชทาน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา   “มหาราช”   แด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในขณะยังทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ในไอศูรย์ราชสมบัติ ทำนองเดียวกับประชาราษฎร์ สมัยเมื่อ ๘๐ ปี  ที่ล่วงมาได้พร้อมใจกันน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย พระราชสมัญญาแก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราชเจ้าว่า   “พระปิยมหาราช…”

“…. ในอภิลักขิตมหามงคลสมัยแห่ง   “วันฉัตรมงคล”   ในรอบปีที่ ๓๗ ในวันนี้ บรรดาอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงและรัฐบาล สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ประกาศความสมานฉันท์พร้อมเพรียงกันเฉลิมพระเกียรติ และถวายพระราชสมัญญาเป็น  “มหาราช”  ด้วยความจงรักภักดีมีในปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าฯ ตั้งสัตยาธิษฐานเดชะคุณพระศรีรัตนตรัย เป็นประธาน พร้อมด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรด อภิบาลพระบรมราชจักรีวงศ์ให้สถิตธำรง อยู่คู่ดินฟ้าและโปรดประทานชัยมงคลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ขอจงทรงพระเจริญสิริสวัสดิ์ในไอศูรย์   ราชสมบัติแห่งสยามรัฐสีมาขอพระมหาราชเจ้า เผยแผ่พระบรมกฤษฎาเดชานุภาพ คุ้มเกล้าคุ้มกระหม่อมเหล่าพสกนิกร ตลอดในจิรัฐิติกาล เทอญ”

พระมหาราชทั้ง  ๘  พระองค์   ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นแก่ประชาชนชาวไทยและประเทศชาติ   ได้ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์   ทำให้ชาติไทยเราสามารถรักษาความเป็นเอกราชและอธิปไตยไว้ได้จนทุกวันนี้   ทำให้บ้านเมืองของเรามีความสงบสุขเรียบร้อย   ผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ มาด้วยดี   ทำให้ประชาชนชาวไทยมีแผ่นดินที่ร่มเย็นเป็นสุขเป็นที่อยู่อาศัยพวกเราชาวไทยทุกคนจึงควรมีจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของมหาราชของชาติไทยทั้ง ๘ พระองค์   ด้วยความกตัญญูกตเวที โดยการปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาท  พระบรมราโชวาท  และพระราชดำรัส