พระราชกรณียกิจ
พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ
จากการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนพสกนิกรนับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ ทำให้ทรงตระหนักว่าภัยแล้งและน้ำเพื่อการเกษตรและบริโภคอุปโภค เป็นปัญหาที่รุนแรงและสำคัญที่สุด การจัดการทรัพยากรน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและบริโภคอุปโภค นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี ในปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกส่วนใหญ่ทุกภาคของประเทศเป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝน และน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอตามที่ต้องการ เป็นผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใฝ่พระราชหฤทัยเกี่ยวกับการจัดการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างยิ่ง มีพระราชดำริว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญต่อมนุษย์และบรรดาสิ่งมีชีวิตอย่างถ่องแท้ ดังพระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2529 ความตอนหนึ่งว่า
“…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”
ในการจัดการทรัพยากรน้ำนั้นทรงมุ่งขจัดปัญหาความแห้งแล้งอันเนื่องมาจากสภาพของป่าไม้ต้นน้ำเสื่อมโทรม ลักษณะดินเป็นดินปนทราย หรือการขาดแหล่งน้ำจืด การจัดการทรัพยากรน้ำโดยการพัฒนาแหล่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีหลักและวิธีการที่สำคัญ ๆ คือ การพัฒนาแหล่งน้ำจะเป็นรูปแบบใด ต้องเหมาะสมกับรายละเอียดสภาพภูมิประเทศแต่ละท้องที่เสมอ และการพัฒนาแหล่งน้ำต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจ และสังคมของท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับคนกลุ่มหนึ่ง โดยสร้างประโยชน์ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการลงทุนนั้นจะมีความเหมาะสมเพียงใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้การทำงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกแห่งจึงพระราชทานพระราชดำริไว้ว่า ราษฎรในหมู่บ้าน ซึ่งได้รับประโยชน์จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน โดยจัดการช่วยเหลือผู้ที่เสียประโยชน์ตามความเหมาะสมที่จะตกลงกันเอง เพื่อให้ทางราชการสามารถเข้าไปใช้ที่ดินทำการก่อสร้างได้ โดยไม่ต้องจัดซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นพระบรมราโชบายที่มุ่งหวังให้ราษฎรมีส่วนร่วมกับรัฐบาล และช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในสังคมของตนเอง และมีความหวงแหน ที่จะต้องดูแลบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างนั้นต่อไปด้วย
2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้เป็นแนวทางหลักในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน และการพังทลายของดินอย่างรุนแรง จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาป่าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม
พระราชกรณียกิจที่สำคัญที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม มีตัวอย่าง คือ
1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวมทั้งรูปแบบการพัฒนาต่าง ๆ ที่ทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
2. โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อบำรุงฟื้นฟูป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารให้คงสภาพอยู่เดิม อันจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันอุทกภัย และรักษาสภาพแหล่งต้นน้ำลำธาร
3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ได้ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในด้านการลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า การป้องกันไฟป่า และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยการแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการปลูกป่าที่เรียบง่าย ประหยัด เหมาะสมกับราษฎรที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยการปลูกป่าทดแทนให้ได้ประโยชน์อเนกประสงค์
4. โครงการป่าสาธิตส่วนพระองค์ พระตำหนักสวนจิตรลดา เพื่ออนุรักษ์ รวบรวมและขยายพันธุ์พฤกษชาติรวมทั้งพืชสมุนไพร เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรป่าไม้
5. โครงการชุมชนพัฒนาป่าชายเลนิ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีวัตถุประสงค์ที่จะทำการพัฒนาชุมชนให้มีความสำนึกในความรู้ความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรชายฝั่ง เป็นการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนในอีกมิติหนึ่งของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่อาศัยความเกี่ยวพันและเกื้อกูลซึ่งกันและกันของมนุษย์กับธรรมชาติ
6. โครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง จังหวัด ปัตตานี มีเป้าหมายมุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิภาพในด้านการจัดการและสงวนรักษาทรัพยากรป่าชายเลน มีเจตนารมณ์ที่จะให้ทุกฝ่ายมีความรู้ ความเข้าใจของสมดุลระบบนิเวศชายฝั่ง และสร้างความร่วมมือรวมพลังกันระหว่างชุมชนและนักวิชาการที่จะปกปักรักษาและพัฒนาป่าชายเลนให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
7. ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธริ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัด นราธิวาส มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของป่าพรุ อันจะทำให้การพัฒนาพื้นที่พรุเป็นไปอย่างสอดคล้องผสมผสานกันทั้งในเรื่องการอนุรักษ์ และการพัฒนาพื้นที่เขตต่าง ๆ ในป่าพรุได้ดำเนินการไปพร้อมกันอย่างได้ผลดียิ่ง ทำให้ป่าพรุได้รับการใช้ประโยชน์อย่างอเนกประสงค์ ควบคู่กับการสร้างสมดุลของระบบนิเวศ
3. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรที่ดิน
ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และรายได้ของประเทศมาจากการขยายพื้นที่การเพาะปลูก มากกว่าการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ จนถึงขณะนี้ประมาณได้ว่าพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรมได้ใช้ไปจนเกือบหมด และเกษตรกรพยายามหาพื้นที่ใหม่ด้วยการอพยพโยกย้ายกระจัดกระจายเข้าไปอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะมีการใช้ที่ดินกันอย่างขาดความระมัดระวังและไม่มีการบำรุงรักษา ซึ่งทำให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรมทั้งด้านเคมีและกายภาพ
ปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องของทรัพยากรที่ดิน ทั้งในแง่ของปัญหาดินที่เสื่อมโทรม ขาดคุณภาพ และการขาดแคลนที่ดินทำกินสำหรับเกษตรกร แนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรที่ดินสามารถแบ่งได้เป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่
– การจัดและพัฒนาที่ดิน
– การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน
– การดำเนินการเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน “ป่าเตรียมสงวน”
4. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรประมง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่าประชาชนในชนบท ยังขาดสารอาหารโปรตีนซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และสัตว์น้ำจำพวกปลาน้ำจืดเป็นแหล่งอาหารราคาถูกที่ให้สารอาหารโปรตีน ประกอบกับสามารถหาได้ในท้องถิ่นชนบททั่วประเทศ จึงทำให้ปลาเป็นอาหารที่สำคัญและเป็นอาหารหลักของราษฎรในชนบท แต่การที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประกอบกับแหล่งน้ำธรรมชาติมีความเสื่อมโทรม ทำให้ปริมาณการผลิตปลาจากแหล่งน้ำเหล่านี้ไม่เพียงพอกับความต้องการโดยเฉพาะสำหรับประชาชนที่ยากจนในชนบท แนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจในด้านการจัดการทรัพยากรประมง มีดังต่อไปนี้
1. โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มีบ่อเพาะเลี้ยงปลานิล และมีพันธุ์ปลาพระราชทาน มีบ่อเพาะพันธุ์จำนวน 6 บ่อ สามารถผลิตลูกปลานิลพระราชทานในปี พ.ศ.2538 จำนวน 42,485 ตัว (สำนักพระราชวัง, 2539:25) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพันธุ์ปลาไปทั่วประเทศ บ่อยครั้งที่ทรงปล่อยปลาลงตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองเพื่อให้มีทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น
2. งานศึกษาวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรประมงน้ำจืด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้มีกิจกรรมการทดลองค้นคว้าวิจัยทางด้านการประมง ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง โดยทรงเน้นให้ทำการศึกษาการพัฒนาด้านการประมง ซึ่งมิใช่การศึกษาวิจัยทางด้านวิชาการชั้นสูง แต่ต้องศึกษาในด้านวิชาการที่จะนำผลมาใช้ในท้องที่และสามารถปฏิบัติได้จริง เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างการค้นคว้าเชิงวิชาการชั้นสูงกับการนำความรู้ที่ค้นพบมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพของประชาชน เพื่อให้เกษตรกรทั่วไปที่ไม่มีความรู้มากนักสามารถนำไปปฏิบัติได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงห่วงใยถึงการทำประมงของราษฎรและทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดการทรัพยากรประมง จึงโปรดให้มีกิจกรรมการทดลองวิจัยทางด้านการจัดการทรัพยากรประมง ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ โดยให้จัดระเบียบในด้านการบริหารการจับปลาไม่ให้มีการแก่งแย่งและเอาเปรียบกัน และไม่ทำลายพันธุ์ปลา ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยการจัดตั้งเป็นกลุ่มและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ (สำนักงาน กปร., 2531: 52)
3. งานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรประมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการจัดการทรัพยากรประมง โดยทรงมุ่งมั่นในงานด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรประมงควบคู่ไปกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งกระจายครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ เช่น โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาในศูนย์ศึกษาการพัฒนาปลวกแดง จังหวัดระยอง – ชลบุรี (ทบวงมหาวิทยาลัย, 2540: 101-2) ด้วยการสงวนพันธุ์และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ พร้อมเร่งรัดปล่อยพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาโตเร็วที่เหมาะสมในแต่ละท้องที่ลงในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อให้มีสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของประชาชนไว้บริโภคตลอดไป ในกรณีที่ปลาบางชนิดซึ่งเป็นปลาที่หายากและมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนลดน้อยลงจนอาจสูญพันธุ์ได้ เช่นปลาบึก ซึ่งเป็นปลาในสกุล Catfish ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีอยู่แต่เฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้น พระองค์ก็ทรงห่วงใยและทรงให้ทำการค้นคว้าหาวิธีการที่จะอนุรักษ์พันธุ์ปลาชนิดนี้ไว้ให้ได้ พร้อมทั้งทรงให้กำลังใจแก่ผู้ค้นคว้าตลอดเวลา จนในที่สุดก็สามารถผสมเทียมพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้สำเร็จ (สำนักงาน กปร., 2531: 52)
4. การจัดการทรัพยากรประมงที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ได้ทรงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาวิจัยตามแนวพระราชดำริเพื่อหาแนวทางการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำอย่างยั่งยืน รวมทั้งการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งแบบอเนกประสงค์และเกื้อกูลกัน ณ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน” จังหวัดจันทบุรี โดยได้มีการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนา ผสมผสานกับการอนุรักษ์และปลูกป่าชายเลนทดแทนเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และความขัดแย้งระหว่างนาข้าว กับนากุ้ง โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำ “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง” จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้มีการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้วยการกำหนดเขตการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้เป็นสัดส่วน และให้มีการสร้างเขื่อนป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้ามาทำความเสียหายให้กับนาข้าว และยังทรงแนะนำให้มีการบำบัดน้ำเสียจากการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำก่อนที่จะปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งการจัดทำระบบชลประทานน้ำเค็ม และคลองระบายน้ำเสียแยกจากกันในบริเวณโครงการฯ วิธีการนี้ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทำลายจากการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำลดลง อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำอย่างยั่งยืน
5. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร
พระราชดำริและพระราชกรณียกิจที่สำคัญและสมควรได้รับการกล่าวถึงเกี่ยวกับการผลิตทางการเกษตร ได้แก่
– ทฤษฎีการพัฒนาการเกษตรแบบ “พึ่งตนเอง” และ “เศรษฐกิจพอเพียง
– ทฤษฎีใหม่ : แนวทางการจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน
– เกษตรยั่งยืนและระบบเกษตรธรรมชาติ
6. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีความสำคัญที่มักจะเกิดควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้า ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ กล่าวคือ การพัฒนายิ่งรุดหน้าปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและภาวะมลพิษก็ยิ่งก่อตัวและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ แต่ไม่ได้มีการวางแผนการจัดการที่เหมาะสมรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่มีสภาพเสื่อมโทรมลง และปัญหาต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้น ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศ จึงทรงให้มีการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวิธีการที่จะทำนุบำรุงและปรับปรุงสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ โดยในด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ทรงเน้นงานการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปัญหาน้ำเน่าเสีย พระราชดำริ พระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญได้แก่ หลักการ “น้ำดีไล่น้ำเสีย” หลักการบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด และ “กังหันน้ำชัยพัฒนา”
พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่าง ๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้ป่วยไข้ได้ทันที
นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราชดำริที่ให้ทันตแพทย์อาสาสมัคร ได้เดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟัน แก่เด็กนักเรียนและราษฎรที่อาศัยอยู่ในท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกลจากแพทย์ทั่วทุกภาค โดยให้การบริการรักษาโรคฟัน โดยไม่คิดมูลค่าในการแพทย์เคลื่อนที่
สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดทุกแห่ง ซึ่งนับเป็นศูนย์กลางของชุมชนในชนบท โดยจะพระราชทานกล่องยาแก่วัด เพื่อพระภิกษุใช้เมื่อเกิดอาพาธ และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรผู้ป่วยเจ็บในหมู่บ้านนั้น ๆ ส่วนในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมหน่วยทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ที่ออกไปตั้งฐานปฏิบัติการในท้องที่ทุรกันดาร ก็จะพระราชทานสิ่งของที่จำเป็นต่าง ๆ รวมทั้งยารักษาโรคสำหรับใช้ในหมู่เจ้าหน้าที่ และใช้ในการรักษาพยาบาล และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรในท้องที่ ที่มาขอความช่วยเหลือ อันจะทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปราม และประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติการ ได้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ทางด้านหน่วยแพทย์หลวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ประทับแรมทุกแห่งนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้มาขอรับการรักษา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทาง ไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นผู้แนะนำสถานที่และร่วมเดินทางไปด้วย สำหรับราษฎรผู้เจ็บป่วยรายที่มีอาการหนัก หรือจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจรักษาเพิ่มเติมนั้น ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จพระราชดำเนิน ทำการบันทึกรายชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และอาการโดยละเอียด โดยตรวจสอบความถูกต้องกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และมีสำเนาให้รับทราบเพื่อติดต่อประสานงานต่อไป ในการพิจารณาส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อ ตามความเห็นของแพทย์ผู้ทำการตรวจ
พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ด้านการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีว่า การพัฒนาการศึกษาของเยาวชนนั้น เป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล ให้เป็นทุนสำหรับการศึกษาในแขนงวิชาต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษาได้มีทุนออกไปศึกษา หาความรู้ต่อในวิชาการชั้นสูงในประเทศต่าง ๆ โดยไม่มีเงื่อนไขข้อผูกพันแต่ประการใด เพื่อที่จะได้นำความรู้นั้น ๆ กลับมาใช้พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
H.M.K picture นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น สารานุกรมชุดนี้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสารานุกรมชุดอื่น ๆ ที่ได้เคยจัดพิมพ์มาแล้ว กล่าวคือ เป็นสารานุกรมอเนกประสงค์ที่บรรจุเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นสาระไว้ครบทุกแขนงวิชา โดยจัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ เพื่อที่จะให้เยาวชนแต่ละรุ่น ตลอดจนผู้ใหญ่ที่มีความสนใจ สามารถที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ได้ตามความเหมาะสมของพื้นฐานความรู้ ของแต่ละคน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชา การอุทิศเวลาและความรู้ เพื่อสนองพระราชดำริ โดยร่วมกันเขียนเรื่องต่าง ๆ ขึ้น แบ่งออกเป็น 4 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
ทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ ในมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนริเริ่มในการก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท สำหรับที่จะสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้า ให้ได้มีสถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียน โดยอาราธนาพระภิกษุเป็นครูสอนในวิชาสามัญต่าง ๆ ที่ไม่ได้ขัดต่อพระธรรมวินัย ตลอดจนช่วยอบรมศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน ทั้งนี้ เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้เด็กนักเรียน ได้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการศึกษาควบคู่กันไป อันจะทำให้เยาวชนของชาติ นอกจากจะมีความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังจะทำให้มีจิตใจที่ดี ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เพื่อที่จะได้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติต่อไป ในอนาคต
โรงเรียนร่มเกล้า ก็เป็นสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ในหลายจังหวัดที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริ ที่จะให้ทหารออกไปปฏิบัติภารกิจในท้องที่ทุรกันดาร ได้ทำประโยชน์ต่อชุมชน และมีส่วนช่วยเหลือประชาชนในด้านการศึกษา ตามโอกาสอันควร โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ทหารจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษาสำหรับเยาวชน และยังเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดี ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารที่ไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่นั้น ๆ กับราษฎรเจ้าของท้องที่อีกโสตหนึ่งด้วย ซึ่งในการดำเนินงานจัดสร้างโรงเรียน ทางฝ่ายทหารได้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และฝ่ายศึกษาธิการ เพื่อเลือกสถานที่ตั้งโรงเรียนที่เหมาะสมกับความจำเป็นที่สุด ซึ่งปรากฎว่าราษฎรในท้องที่ที่มีการสร้างโรงเรียน ได้พากันร่วมอุทิศแรงกายช่วยในการก่อสร้าง ตลอดจนอุทิศทุนทรัพย์สมทบเป็นทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงเรียน เพื่อเป็นการโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย และเมื่อการก่อสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนเหล่านั้น พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า โรงเรียนร่มเกล้า ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา
พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ด้านการศึกษา
โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประมุขของประเทศ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทย กับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้น ที่มีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้ว ให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทรงนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทย ไปยังประเทศต่าง ๆ นั้นด้วย ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างไกลมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล และประเทศต่าง ๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญทางพระราชไมตรีนั้น มีดังนี้
– เวียดนามใต้ ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2502 ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งแรก ในรัชกาลปัจจุบัน
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 8-16 กุมภาพันธ์ 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหภาพพม่า ระหว่างวันที่ 2-5 มีนาคม 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนอังกฤษ ระหว่างวันที่ 19-23 กรกฎาคม 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐโปรตุเกส ระหว่างวันที่ 22-25 สิงหาคม 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 2ช-31 สิงหาคม 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ 6-9 กันยายน 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสวีเดน ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนนครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนเบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ 4-7 ตุลาคม 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 11-14 ตุลาคม 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนลักเซมเบอร์ก ระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสเปน ระหว่างวันที่ 3-8 พฤศจิกายน 2503
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ระหว่างวันที่ 11-22 มีนาคม 2505
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหพันธรัฐมลายา ระหว่างวันที่ 20-27 มิถุนายน 2505
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 18-26 สิงหาคม 2505
– ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม – 12 กันยายน 2505
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2506
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐจีน ระหว่างวันที่ 5-8 มิถุนายน 2506
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 9-14 กรกฎาคม 2506
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 5 ธันวาคม 2507
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ 22-28 สิงหาคม 2509 ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 2 ตุลาคม 2509 ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนอิหร่าน ระหว่างวันที่ 23-30 เมษายน 2510
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 6-20 มิถุนายน 2510 ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง
– เสด็จพระราชดำเนินเยือน แคนาดา ระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2510
– เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน 2537
เมื่อเสร็จสิ้นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ แล้ว ก็ได้ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ที่เป็นประมุขของประเทศต่าง ๆ ที่เสด็จและเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นการตอบแทน และบรรดาพระราชอาคันตุกะทั้งหลาย ต่างก็ประทับใจในพระราชวงศ์ของไทย ตลอดจนประชาชนชาวไทยอย่างทั่วหน้า บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนเหล่านั้น พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า โรงเรียนร่มเกล้า ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา
พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชกรณียกิจด้านภาษาและวรรณกรรม
“ …ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่นในทางวรรณคดีเป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเองซึ่งต้องหวงแหนประเทศใกล้เคียงของเราหลายประเทศมีภาษาของตนเอง แต่ว่าเขาก็ไม่แข็งแรง เขาต้องพยายามหาทางที่จะสร้างภาษาของตนเองไว้ให้มั่นคง เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้… ”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรมเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าพระองค์จะทรงเจริญพระชันษาในต่างประเทศ ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศ แต่พระองค์ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยได้อย่างยอดเยี่ยม และยังทรงห่วงใยต่อภาษาไทยอีกด้วย พระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยของพระองค์แสดงชัดในด้านต่าง ๆ ดังนี้
ด้านภาษา
พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในวโรกาสต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่นักธุรกิจและนักหนังสือพิมพ์ในนิวยอร์กเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2510 ดังนี้
“… การแพร่ข่าวโดยขาดความระมัดระวังหรือแม้แต่คำพูดต่าง ๆ เพียงนิดเดียวก็สามารถจะทำลายงานที่ผู้มีความปรารถนาดีทั้งหลายพยายามสร้างไว้ด้วยความยากลำบากเป็นเวลาแรมปี… เหมือนฟองอากาศนิดเดียว ถ้าเข้าไปอยู่ในเส้นเลือดก็จะสามารถปลิดชีวิตคนได้ทั้งคน และน้ำตาลหวาน ๆ ก้อนเล็กนิดเดียว ถ้าใส่ลงในถังน้ำมันรถ ก็จะทำให้เครื่องจักรดี ๆ ของรถเสียได้โดยสิ้นเชิง… ”
จากพระราชดำรัสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุปมา คำพูดเล็ก ๆ “น้อย ๆ” เปรียบเทียบกับ “ฟองน้ำ” และ “น้ำตาล ” ว่าสามารถทำลายสิ่งที่สร้างมาด้วยความยากลำบากได้ เช่นเดียวกันกับฟองอากาศและน้ำตาลแม้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าฟองอากาศเข้าไปอยู่ในเส้นเลือด และน้ำตาลเข้าไปอยู่ในเครื่องยนต์แล้วทั้งเครื่องยนต์และเส้นเลือดก็จะถูกทำลายลงได้
นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาภาษาละติน ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับเรื่องศัพท์ ที่มาของศัพท์ และรากศัพท์ อีกทั้งยังสนพระทัยและค้นคว้าเกี่ยวกับศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะทรงเข้าพระทัยว่าหากเข้าใจศัพท์และที่มาของศัพท์แล้วจะช่วยให้เข้าใจความหมายของธรรมะได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ภาษาในด้านการพระราชนิพนธ์ร้อยกรองคำอวยพรปีใหม่ มอบแด่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศซึ่ง ส.ค.ส. ฉบับแรกปี พ.ศ. 2529 เพื่อเป็น ส.ค.ส. พระราชทานปี พ.ศ. 2530 โดยพระราชทานให้แก่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรงพริ้นต์จากคอมพิวเตอร์และส่งแฟกซ์พระราชทานไปยังหน่วยงานโดยทั่วถึงกัน ส.ค.ส. พระราชทานแต่ละปี จะประมวลจากเหตุการณ์บ้านเมืองในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ด้วยถ้อยคำที่สั้น ๆ แต่มากด้วยคุณค่าทรงเน้นในการเตือนและให้กำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่ง ส.ค.ส. ส่วนใหญ่ล้วนเป็นสีขาว – ดำ ทั้งสิ้น
ด้านวรรณกรรม
ผลงานด้านวรรณกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีทั้งพระราชนิพนธ์ทรงแปลและพระราชนิพนธ์ทรงแต่งหลายเรื่องด้วยกันพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “ พระราชานุกิจรัชกาลที่ 8 ” ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล ซึ่งพระราชนิพนธ์เรื่องนี้อยู่ในเรื่อง “ พระราชานุกิจ ” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชกุศล 100 วัน พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ วันที่ 20 กันยายน 2489
วรรณกรรมทรงพระราชนิพนธ์
พระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชานุกิจรัชกาลที่ 8 ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวกิจวัตรของรัชกาลที่ 8ทั้งกิจวัตรส่วนพระองค์ พระราชกิจ และพระราชานุกิจขณะเสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชกุศล 100 วันพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2489 ซึ่งภาษาที่ทรงใช้จะเป็นภาษาที่สั้น กระชับ และได้ใจความชัดเจน
พระราชนิพนธ์เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์” ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อพระราชทานเป็นพิเศษแก่หนังสือวงวรรณคดี ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 เป็นพระราชนิพนธ์รูปแบบบันทึกประจำวัน ตั้งแต่เสด็จฯ จากประเทศไทย เพื่อไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ช่วงก่อนเดินทางจากเมืองไทยไปยังตำหนักวิลลาวัฒนา คือ ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2489 – 22 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งพระราชนิพนธ์นี้ ทรงพรรณนาความรู้สึกของพระองค์ขณะจากเมืองไทย สะท้อนให้เห็นถึงความรัก ความผูกพัน และความห่วงใยในพสกนิกรของพระองค์
พระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ แห่งวัดราชผาติการาม เมื่อปี พ.ศ. 2520 เรื่องพระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยานในกรุงมิถิลา พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัย จึงทรงค้นคว้าเรื่องพระมหาชนเพิ่มเติมในพระตรีปิฎก และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2539 และแปลเป็นภาษาสันสกฤตอีกภาษาหนึ่ง ก่อนจะแปลเป็นฉบับการ์ตูน ในปี พ.ศ. 2545 เพื่อให้อ่านและเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถพิจารณาหาแนวดำเนินชีวิตที่เป็นมงคลได้
พระราชนิพนธ์เรื่องทองแดง พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ได้แฝงข้อคิดคติธรรมที่มีคุณค่า โดยเฉพาะความกตัญญูรู้คุณของทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2541
งานแปล
ติโต ผลงานแปลชิ้นแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงแปลจากหนังสือ Tito ของ Phyllis Auty ในปี พ.ศ. 2519 เพื่อให้ข้าราชบริพารได้ทราบถึงบุคคลที่น่าสนใจคนหนึ่งของโลก ติโต เป็นผู้ที่ทำให้ประเทศยูโกสลาเวียที่ประกอบด้วยประชาชนจากหลากหลายชนเผ่า มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ สามารถรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นยามที่ประเทศชาติต้องพบกับภาวะวิกฤติ เพื่อร่วมกันรักษาความอุดมสมบูรณ์ และความเจริญของประเทศไว้ หนังสือติโตนี้ ได้จัดพิมพ์เป็นเล่ม และวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2537
เศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา บทที่ 4 เล็กดีรสโต แปลจาก Small is Beautiful โดย E.F.Schumacher หน้า 53-63 นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นงานแปลชิ้นที่สองของพระองค์ท่าน โดยทรงแปลจากหนังสือ A Man Called Intrepid ของ William Stevenson ทรงเริ่มแปลหน้าแรกเมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2520 และแปลหน้าสุดท้ายเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2523 โดยใช้เวลาในการแปลรวมทั้งสิ้น 2 ปี 9 เดือน 3 วัน แต่ได้นำมาจัดพิมพ์เพื่อวางจำหน่ายก่อนหนังสือติโต ซึ่งทรงแปลเป็นเล่มแรก คือจัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2536
บทความที่ทรงพระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียง
“ข่าวจากวิทยุเพื่อสันติภาพและความก้าวหน้า” จาก “Radio Peace and Progress” ในนิตยสาร Intelligence Digest 1 เมษายน พ.ศ. 2518
“การคืบหน้าของมาร์กซิสต์” จาก “The Marxist Advance” Special Brief
“รายงานตามนโยบายของคอมมูนิสต์” จาก “Following the Communist Line”
“ฝันร้ายไม่จำเป็นจะต้องเป็นจริง” จาก “No Need for Apocalypse” ในนิตยสาร The Economist ฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม พุทธศักราช 2518
“รายงานจากลอนดอน” จาก ” London Report” ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ 18มิถุนายน พุทธศักราช 2518
“ประเทศจีนอยู่ยง” จาก “Eternal China” ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ 13 สิงหาคม พุทธศักราช 2518
“ทัศนะน่าอัศจรรย์จากชิลีหลังสมัยอาล์เลนเด” จาก “Surprising Views from a Post Allende Chile” ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2518
“เขาว่าอย่างนั้น เราก็ว่าอย่างนั้น” จาก ” Sauce for the Gander…” ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2518
“จีนแดง ตั้วเฮียค้ายาเสพติดแห่งโลก” จาก “Red China Drug Pushers to the World ” ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2518
“วีรบุรุษตามสมัยนิยม” จาก “Fashion in Heroes” โดย George F. Will ในนิตยสาร Newsweek ฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม พุทธศักราช 2522
จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถในหลายภาษา ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยในการที่จะพระราชนิพนธ์หรือแปลได้อย่างผู้ที่เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนต้นฉบับ สำหรับพระราชนิพนธ์แปล จะทรงแปลตามความมากกว่าแปลตามคำ ด้วยเหตุที่ทรงเลือกสรรถ้อยคำให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่ผู้อ่านจะสื่อเรื่องราวได้ ทำให้พระราชนิพนธ์แปลของพระองค์ มีอรรถรสแบบไทยแทรกพระอารมณ์ขันไว้ได้อย่างเหมาะสม
สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะด้านวรรณศิลป์ของพระองค์อย่างสมบูรณ์ คือพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ซึ่งพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน และจะทรงเลือกใช้ภาษาโบราณ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อคงความขลังของเนื้อหาในบางตอน ซึ่งในเรื่องพระมหาชนกนี้ พระองค์ได้ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพด้านทัศนศิลป์ไว้ด้วย นั่นคือภาพประกอบฝีพระหัตถ์ของพระองค์ โดยทรงใช้คอมพิวเตอร์วาดภาพแสดงเส้นทางเดินเรือของพระมหาชนก รวม 4 ภาพ คือภาพวันที่ควรออกเดินทาง ภาพวันเดินทาง ภาพวันที่เรือล่ม และภาพพระมหาชนกทรงว่ายน้ำ และนอกจากนี้ พระราชนิพนธ์แปลของพระองค์ จะทรงเลือกสรรคำ โดยเฉพาะพระองค์ทรงโปรดที่จะใช้คำแปลก ๆ เพื่อให้พระราชนิพนธ์ของพระองค์มีสีสัน
พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ด้านวิทยาศาสตร์ – เทคโนโลยี
ตลอด 60 ปีภายใต้ร่มฉัตรแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พสกนิกรชาวไทยต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและต่างรู้ซึ้งถึงพระอัจฉริยภาพรอบด้านของพระองค์ โครงการพระราชดำริหลายโครงการนอกจากจะแสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ที่ทรงมี ต่อปวงชนชาวไทยแล้ว ยังยืนยันถึงพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย
โครงการฝนหลวง
โครงการแก้มลิง กักตุนแล้วระบายน้ำตามแรงโน้มถ่วง
กังหันน้ำชัยพัฒนา ปั่นน้ำเสียเติมออกซิเจน
เขื่อนดิน อ่างเก็บน้ำที่ไม่ใช้คอนกรีต
เขื่อนดินเป็นแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินตามแนวพระราชดำริ ตัวเขื่อนนิยมก่อสร้างด้วยการถมดินและบดอัดจนแน่น สามารถส่งน้ำไปตามท่อส่งน้ำได้ เพื่อใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็กอย่างปลาและกุ้งน้ำจืดได้ นอกจากนี้เขื่อนดินยังเป็นปราการที่ไม่เพียงบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำหากแต่ยังป้องกันน้ำท่วมได้อีกด้วย ส่วนความจุของปริมาณขึ้นอยู่กับความสูงของเขื่อน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งก็จะทรงปล่อยลูกปลา ลูกกุ้งเพื่อพระราชทานแก่ราษฎรในบริเวณนั้นให้มีแหล่งอาหารสำหรับบริโภค ทั้งนี้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลักษณะดังกล่าวทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก อาทิ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำห้วยซับตะเคียน จ.ลพบุรี อ่างเก็บน้ำคลองหลา จ.สงขลา รวมทั้งเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ใน จ.ลพบุรี และ จ.สระบุรี ซึ่งเก็บน้ำได้มากถึง 960 ล้านลูกบาศก์เมตร
ไบโอดีเซล จากปาล์มประกอบอาหารสู่เชื้อเพลิงเครื่องยนต์
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนผ่านโครงการส่วนพระองค์มาตั้งแต่ปี 2522 โดยมีโครงการผลิตแก๊สชีวภาพ เอทานอล แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลจากปาล์ม ซึ่งในส่วนของพระราชดำริด้านการพัฒนาน้ำมันปาล์มเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลนั้น การพัฒนาไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มในชื่อ “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล” ได้จดสิทธิบัตรที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2544
อีกทั้งในปี 2546 ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลจาก “โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม” ในงาน “บรัสเซลส์ ยูเรกา” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ทั้งนี้ปาล์มเป็นพืชที่ให้ปริมาณน้ำมันต่อพื้นที่ปลูกสูง อีกทั้งเกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้ภายในประเทศ ซึ่งจะใช้ทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้
แหลมผักเบี้ย-หนองหาร โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม
หญ้าแฝก รากฝังลึกอนุรักษ์หน้าดิน
ด้วยระบบรากของ “หญ้าแฝก” ที่ฝังลึกไปในดินตรง ๆ และแผ่กระจายเหมือนกำแพงจึงช่วยชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลผ่านหน้าดิน ช่วยเก็บความชุ่มชื้นของดินไว้และป้องกันการพังทลายของหน้าดิน จึงมีการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ดิน เช่น ปลูกตามพื้นที่ลาดชันหรือบริเวณเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะของหน้าดิน ปรับปรุงดินที่เสื่อมโทรม และยังใช้ปลูกป้องกันสารพิษปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ เป็นต้น
ผล จากการดำเนินงานตามพระราชดำริในการศึกษาให้ทราบพันธุ์และหาวิธีปลูกหญ้าแฝก ที่เหมาะสมเพื่อเผยแพร่ในพื้นที่ ๆ ประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ทำให้สมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ(International Erosion Control Association: IECA) มีมติถวายรางวัล The International Erosion Control Association’s International Merit Award แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้ อนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2536
นอก จากนี้พระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่คนในวงการ วิทยาศาสตร์ควรจะน้อมนำเป็นแบบอย่างและแนวทางเพื่อการพัฒนางานที่อยู่สู่การ พัฒนาประเทศ
ด้านสื่อสารอิเล็กโทรนิค
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. 2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน