กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา

104787

“มาฆะ”  เป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า”มาฆบุรณมี” แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓ วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปฎิโมกข์ แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

1425465563

โอวาทปาฏิโมกข์

สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯแปล : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง, การบำเพ็ญแต่ความดี, การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น  ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ การไม่กล่าวร้าย, การไม่ทำร้าย, ความสำรวมในปาฏิโมกข์, ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร, ที่นั่งนอนอันสงัด, ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

e1924

โอวาทปาฏิโมกข์  เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึง จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ของพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วน

๑. จุดหมายของพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน (นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา)

๒. หลักการของพระพุทธศาสนา คือ ต้องมีความอดทน ในการฝึกตนเอง เพื่อบรรลุจุดหมาย (ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา) ต้องประกอบด้วย
ก. ไม่ทำความชั่วโดยประการทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ (สพฺพปาปสฺส อรกณํ)
ข. ทำความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ (กุสลสฺสูปสมฺปทา) การไม่ทำความชั่วนั้น จะเรียกว่า เป็นคนดียังไม่ได้ การเป็นคนดี จะต้องทำความดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ มิฉะนั้นแล้ว คนปัญญาอ่อน คนเป็นอัมพาต เป็นต้น ก็จะเป็นคนดีไปหมด
ค. การชำระจิตใจให้สะอาด ผ่องใส สงบ (สจิตฺตปริโยทปนํ)

๓. วิธีการที่จะบรรลุจุดหมาย คือ ต้องฝึกอบรมตนแบบต่อเนื่อง ให้เกิดมรรคสามัคคี คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ** รวมพลังกัน เหมือนเชือก ๘ เกลียว หรือให้มี ศีล สมาธิ และปัญญา รวมพลังกัน เหมือนเชือก ๓ เกลียว พัฒนากาย วาจา ใจ ให้พูดดี ทำดี คิดดี ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ ราคะ โมสะ โมหะ ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส ตัณหา หรือความใคร่ ความอยากมี อยากเป็น แบบมืดบอด ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ที่มันเป็นไปไม่ได้ เช่น ไม่อยากเป็นคนเสื่อมลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุข เป็นต้น โดยอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้.

ก. ฝึกวาจา ระวังเสมอ มิให้กล่าวคำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ (อนูปวาโท)
ข. ฝึกกาย ระวังเสมอมิให้มีการฆ่า ทำลายชีวิต ตลอดจนถึงการเบียดเบียนทางกาย (อนูปฆาโต)
ค. ละเว้นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่พระพุทธองค์อนุญาต (ปาฎิโมกฺเข จ สํวโร)
ง. รู้จักประมาณในการบริโภค อาหาร ตลอดจน รู้จักประมาณในการใช้สอยปัจจัย ๔ (มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺสมึ)
จ. ฝึกตนอย่างจริงจัง ในที่ที่สงัดจากสิ่งรบกวน (ปนฺตนฺ จ สยนาสนํ)
ฉ. ภาวนาอยู่เสมอ คือ พัฒนาตนเองให้พ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา การภาวนา หมายถึง การใช้ทั้งสมาธิ และวิปัสสนา แก้ปัญหา หรือจัดการกับกิเลส (อธิจิตฺเต จ อาโยโค) เป็นการตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ มิให้จิตใจเศร้าหมอง ให้จิตใจผ่องใสอยู่เสมอ (สจิตฺตปริโยทปนํ)

จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศไว้จะเป็นไปด้วยดี และบรรลุวัตถุประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายไว้นั้น พระองค์ได้ย้ำเตือนไว้ว่า จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นอย่างบรรพชิต และเป็นอย่างสมณะ คือ เว้นจากความชั่วทุกประการ และเป็นผู้ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่าง เพื่อระงับบาปอกุศล ได้แก่ ผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นอริยบุคคล ทั้งไม่เบียดเบียนและไม่ก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่คนที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบทั้งหลาย (น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต)

คำว่า “จาตุรงคสันนิบาต” แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ “จาตุร” แปลว่า ๔ “องค์” แปลว่า ส่วน “สันนิบาต” แปลว่า ประชุม ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า “การประชุมด้วยองค์ ๔” กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ

๑. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจาก พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
๓. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์
๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ

makhapucha-eng-004

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา

การปฏิบัติตนสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันมาฆบูชาคือ คือ ในตอนเช้า ควรไปทำบุญตักบาตร ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา หรือจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหาร ช่วงบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา เมื่อถึงตอนค่ำ นำดอกไม้ ธูปเทียนไปเวียนเทียน 3 รอบที่พระอุโบสถ โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา จำนวน 3 รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นอกจากนี้พุทธศาสนิกชนควรบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามสถานที่ต่างๆ และรักษาศีล สำหรับตามบ้านเรือน สถานที่ราชการ จะมีการประดับธงชาติ ธงธรรมจักร เพื่อระลึกถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

pp7

ข้อเสนอแนะการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันมาฆบูชา

กิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัว

กิจกรรมที่ครอบครัวควรทำในวันมาฆบูชา อย่างเช่น การทำความสะอาดบ้าน จัดแต่งที่บูชาประจำบ้าน ชักชวนครอบครัวไปทำบุญตักบาตร ฟังศีล ฟังธรรม บำเพ็ญกุศล ปฏิบัติธรรม รวมทั้งควรศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอน และความสำคัญของวันมาฆบูชาด้วย

กิจกรรมเกี่ยวกับสถานศึกษา

ในสถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่ง โดยภายในสถานศึกษาควรมีการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา เช่น จัดนิทรรศการให้ความรู้ ประกวดเรียงความ ตอบปัญหาธรรมะ บรรยายธรรม หรือร่วมกันทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียน บำเพ็ญกุศล อีกทั้งประกาศเกียรติคุณนักเรียนผู้ทำประโยชน์ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี

กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน

ควรประชาสัมพันธ์ในที่ทำงาน และจัดให้มีการบรรยายธรรม หรือร่วมบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน ร่วมทำบุญ บำเพ็ญกุศลร่วมกัน

กิจกรรมเกี่ยวกับสังคม

ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น วัด มูลนิธิ สมาคม สื่อมวลชน สนามบิน สถานีรถไฟ ฯลฯ ควรช่วยกันประชาสัมพันธ์ความสำคัญของวันมาฆบูชา อาจเป็นการพิมพ์เอกสารให้ความรู้ จัดให้มีการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม ช่วยกันรณรงค์ให้เลิกอบายมุข แต่รณรงค์ให้ช่วยกันทำประโยชน์ต่อสังคมแทน อาจช่วยกันปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดที่สาธารณะ ฯลฯ

pootmontha_makha-bucha_0151

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดกิจกรรมในวันมาฆบูชา

พุทธศาสนิกชนจะมีความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความตระหนักต่อความสำคัญของพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะชาวพุทธ และยังเป็นการช่วยธำรงพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไป